เมืองไทย 360 องศา
กลายเป็นว่าความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็ต้องปรากฏภาพให้เห็นได้ชัดเจนแบบปิดกันไม่มิดอีกแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมา บางคนในระดับแกนนำพรรคทั้งสองจะพยายามเก็บอาการ หรือพยายามเลี่ยงไม่ให้เห็นภาพความขัดแย้งออกมาให้สังคมภายนอกได้ แต่ในที่สุดแล้วเมื่อต้องเดินมาถึงทางแยกมันก็ต้องเดินในเส้นทางของตัวเองแบบทางใครทางมัน
ที่ต้องบอกอย่างนี้ ก็เพราะด้วยเส้นทางที่มาและแนวทางมัน “ทับซ้อน” อิงแอบและหาประโยชน์ซึ่งกันและกันมาตลอด ส่วนใครจะพึ่งพาใคร หรือใครแปะใครมากกว่ากันก็ต้องค่อยมาว่ากัน เพราะทุกอย่างมันไม่ได้อยู่นิ่งตายตัว มีพัฒนาการ เปลี่ยนแปลงจากอดีตจนถึงปัจจุบันชนิดที่เรียกว่าเร็วมากจนบางครั้งตามแทบไม่ทัน
หากโฟกัสกันไปทีละด้านก็ต้องยอมรับกันว่า ที่มาของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ในชื่อพรรคไทยรักไทย ก็ต้องยอมรับว่า มีความยิ่งใหญ่กว่าจนบางครั้งอาจเรียกว่าเทียบกันไม่ติด มีมวลชนสนับสนุนที่เหนียวแน่น พิสูจน์ได้จากการเลือกตั้งทุกครั้งพวกเขามักจะชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอยแทบทุกครั้งไป
อย่างไรก็ดี ทุกอย่างย่อมมีขึ้นมีลง ไม่มีทางที่จะจีรังยั่งยืนตลอดไป เหมือนกับในวันนี้ ที่พรรคเพื่อไทยในทางการเมืองหลายคนมองว่ามีความ “เสื่อมถอย” ลงมาเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาททางการเมืองทั้งในและนอกสภา โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน
หลายคนอาจมองว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ไม่เอื้อให้พวกเขา เพราะแม้ว่าจะได้รับการเลือกตั้งและมีจำนวนส.ส.มากที่สุดในสภา แต่ขณะเดียวกันกลับไม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสักคนเดียว ซึ่งนั่นเท่ากับว่าระดับแกนนำของพรรคที่เป็นพวก“แถวหนึ่ง”ไม่ได้เข้าสภาสักคนเดียว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เรียกว่าเป็นจุดหักเหที่หลายคนเข้าใจดีนั่นคือการวางยุทธศาสตร์แบบ “แตกแบงก์ย่อย” ผิดพลาดจากกรณีพรรคไทยรักษาชาติ ที่ “เล่นใหญ่” เกินตัวเลยพังทั้งกระดาน อีกทั้งว่ากันว่า “ท่อน้ำเลี้ยง” ตีบตันมานานหลายปี มันก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างยิ่ง “ฝ่อ” เร็วขึ้น
อีกด้านหนึ่ง เมื่อ “เจ้าของพรรคเพื่อไทย” วางยุทธศาสตร์ผิดพลาดจนนำมาสู่การยุบพรรคไทยรักษาชาติ และการที่แกนนำพรรคไม่ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อสักคนเดียว มันก็กลับส่งผลดีกับพรรคน้องใหม่อย่าง “อนาคตใหม่” ในขณะนั้น ที่นำโดยสองคู่หู นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ภายใต้ภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดที่ดู “เร่าร้อน” สำหรับมวลชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกับบรรดาเยาวชน นักศึกษาตามสถาบันการศึกษาต่างๆ
แต่ที่ต้องไม่ลืมกันก็คือการเกิดขึ้นของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะความผิดพลาดของ พรรคเพื่อไทยจากกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติจนทำให้เกิดช่องว่างในเรื่องผู้สมัคร ทั้งในแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ และในที่สุดนำไปสู่การ“เทเสียง”มาให้กับพรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้น อีกทั้งเป็นเพราะมวลชนที่สนับสนุนทั้งสองพรรคดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความทับซ้อนเชื่อมโยงกัน
แต่มาจนถึงวันนี้ พัฒนาการของความขัดแย้งของทั้งสองพรรคที่เวลานี้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจนกลายมาเป็นพรรคก้าวไกล ในลักษณะของความ “เก็บกด” จนถึงขั้น “ระเบิด” หรืออาจจะเกือบระเบิดเต็มทีแล้ว เพราะจะว่าไปแล้วในความเป็นจริงและในทางลึกๆ แล้วทั้งสองพรรคเป็น “คู่แข่ง” กันโดยตรง “ไม่ใช่มิตรร่วมรบ” แต่อย่างใด
โดยเฉพาะสำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว การเติบโตของพรรคก้าวไกลมากขึ้นเท่าใด นั่นก็เท่ากับว่า เป็นการแสดงถึงความถดถอยของพรรคมากเท่านั้น สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นชัดมาตั้งแต่บทบาทในสภาที่ต้องยอมรับว่า ในยุคอดีตพรรคอนาคตใหม่มีความโดดเด่นมากกว่าพรรคเพื่อไทยที่เป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาแทบจะบังมิดเลย
และจนกระทั่งมาถึงการเคลื่อนไหวเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการชุมนุมของบรรดาเยาวชน นักศึกษา ซึ่งหากไม่ปฏิเสธความจริง ส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ภายใต้อิทธิพลการชี้นำของ “สองคู่หู่” คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และผสมปนเปกับแนวคิดของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ นายปวิน ชัลวาลย์พงศ์พันธ์ ที่มาแบบสุดโต่ง มีการก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง แต่หากพิจารณาในแง่ของมวลชนแล้ว ถือว่าโน้มเอียงไปทางพรรคก้าวไกล ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันในความเป็นจริงแล้ว สำหรับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของทั้งสองพรรคนั้นก็ถือว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าภายนอกดูเผินๆ เหมือนกับจะเดินไปด้วยกัน แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว ต้องการแก้ไขให้กลับไปใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญปี 40 ให้มากที่สุด โดยเฉพาะการมีบัตรเลือกตั้งสองใบ ที่มั่นใจว่า พวกเขาจะกลับมาได้เปรียบ หรือไม่เสียเปรียบ
ขณะที่พรรคก้าวไกลในข้อเท็จจริงแล้วถือว่าพวกเขาได้ประโยชน์มากที่สุดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และนำไปสู่การได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุด และที่สำคัญ การเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของทั้งสองพรรคก็ถือว่าแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เพราะหากพิจารณาถึงความเป็นไปแล้วก็ต้องยอมรับว่า ร่างญัตติของพรรคเพื่อไทย ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ โดยไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์ แต่พรรคก้าวไกลไปในทางตรงกันข้าม พุ่งเป้าไปอีกทาง ซึ่งทำให้ถูกกล่าวหาว่า ไม่ได้มีเจตนาแก้ไขจริง แต่ต้องการสร้างกระแสกดดันจากภายนอกโดยเฉพาะจากม็อบให้ปั่นป่วน ซึ่งในระยะข้างหน้าหวังการสนับสนุนจากบรรดาเยาวชนเป็นฐาน
ดังนั้น เมื่อเส้นทางเป็นแบบนี้มันก็ช่วยไม่ได้ต้องมีการ “ระเบิดอารมณ์” ใส่กัน เปรียบเมือนกับการเดินมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะเลือกเดินทางไปทางไหน แต่ถึงอย่างไรเมื่อพิจารณาจากเส้นทางที่มาและหนทางข้างหน้า ระหว่างสองพรรค คือ เพื่อไทย และ ก้าวไกล มันก็ต้องทางใครทางมัน เดินไปด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว !!