เมืองไทย 360 องศา
ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา จะสังเกตเห็นว่ามีสมาชิกระดับแกนนำของพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.ของพรรคอย่างน้อยสองสามคน ที่ออกมาตำหนิและตอบโต้พรรคก้าวไกลอย่างรุนแรง ในเรื่องการแสดงบทบาททางการเมืองที่ “ล้ำเส้น”ประเภท “เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้เพื่อน” หรือ ใช้คำประมาณว่า “เหยียบเพื่อนไปยื่นหล่ออยู่คนเดียว” ในความหมายประมาณนี้แหละ
คำพูดที่พรั่งพรูออกมาจากแกนนำทั้งจากการโพสต์ผ่านสื่อโซเชียล อย่าง นายวัฒนา เมืองสุข นายวัน อยู่บำรุง รวมไปถึงส.ส.กรุงเทพมหานคร อีกคนหนึ่งคือ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ที่ตำหนิอย่างรุนแรง ทั้งต่อบุคคลในพรรคก้าวหน้า เช่น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคก้าวไกล ที่ก่อนหน้านี้ ออกมาให้ความเห็นในเชิง “สั่งสอน” พรรคเพื่อไทย ที่เตรียมเสนอญัตติด่วนขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลตาม มาตรา 152 โดยไม่มีการลงมติว่า จะเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ใช้เวทีนี้ได้ชี้แจง และฟอกตัว ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นการยื่นญัตติตาม มาตรา 151 คือ ลงมติไม่ไว้วางใจมากกว่า และการยื่นญัตติดังกล่าว ก็ไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ
แน่นอนว่า คำพูดของ ส.ส.จากพรรคก้าวไกลดังกล่าว ถือว่า “แรง” ไม่น้อย โดยเฉพาะการพูดจาตำหนิกับพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคเพื่อไทย ที่เป็น “แกนนำ” แบบนี้ มันก็เหมือนกับการไม่ไว้หน้ากันเลย ไม่ต่างกับ “เด็กเมื่อวานซืน ตบหน้าผู้ใหญ่” เข้าจังเบ้อเร่อ และอย่าได้แปลกใจที่จะโดนสมาชิกพรรคเพื่อไทย ดาหน้าออกมาตอบโต้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ถือว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการแสดงท่าทีออกมาให้เห็นแบบนี้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากบทบาทของทั้งสองพรรคที่ผ่านมาแล้ว แม้ว่าภายนอกจะดูเหมือนกับมีการร่วมมือกันทำงานประสานงานกัน ทั้งในและนอกสภา แต่หากพิจารณากันในรายละเอียด จะเห็นว่าทั้งสองพรรคมีอาการ “ขบเหลี่ยม” ชิงบทบาทการนำมาตลอด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากบทบาทในสภา ที่ก่อนหน้านี้ อดีตพรรคอนาคตใหม่ในยุคที่ยังมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นเลขาธิการพรรค ก็มองว่า พรรคเพื่อไทย “ถูกแย่งซีน” ถูกบดบังเกือบหมด ทั้งที่เป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
และหากจำกันได้ ในสมัยประชุมครั้งที่แล้วระหว่างที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทั้งสองพรรคก็มีการวิวาทะกันอย่างรุนแรงไปแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากแกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ โจมตีพรรคเพื่อไทยว่า มีการ “ปิดกั้น” ไม่ให้ ส.ส.ของพรรคได้อภิปราย จนหมดเวลา พร้อมทั้งตั้งคำถามในทำนองว่า “ฮั้ว” กับรัฐบาลหรือไม่ และถูกตอบโต้กลับมาในเรื่องที่ว่ามีแกนนำของอดีตพรรคอนาคนใหม่ บางคนที่หน้าฉากเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาล และหลังฉากมีการ “ดีลพิเศษกับบิ๊กในรัฐบาล” แต่ในที่สุดก็มีการเคลียร์กัน มีการขอโทษขอโพยจาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรื่องจึงเงียบลง พร้อมกับเป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภาพอดี
มาคราวนี้ ก็มีการปะทุที่ “แรง” ไม่เบาเหมือนกัน และยังมีการกล่าวหาในเรื่อง “ดีลพิเศษ” ที่หลุดออกมาจากปากของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อย่าง นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กรุงเทพฯ ที่กล่าวหา พรรคก้าวไกล ว่า “หากจะโวยวายก็ให้ไปโวยกับพรรคตัวเอง (ก้าวไกล) เช่น ใครแอบไปเปิดซูเปอร์ดีลกับใคร เพื่อหลอกเพื่อนและเอาตัวรอด แล้วใครได้ประโยชน์บ้าง”
“ผมอยากถามว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยปรึกษาไปหลายเรื่อง พรรคก้าวไกลเคยฟังหรือไม่ เคยให้เกียรติพรรคเพื่อไทยบ้างหรือไม่ เช่น การยื่นญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติร่วมกันแล้ว เหลือเพียง 30 นาที ก่อนยื่นพรรคก้าวไกล ขอถอนชื่อออกไปทั้งหมด ทั้งที่เราประชุมหารือ และตกผลึกกันด้วยเหตุด้วยผลไปแล้ว อย่างนี้หรือ คือสิ่งที่เพื่อนทำกับเพื่อน ปล่อยให้เพื่อนคนอื่นต้องกลืนเลือด แต่ตัวเองตีกินทางการเมือง ยืนหล่ออยู่คนเดียว" นายประเดิมชัย กล่าว
ขณะเดียวกัน นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ยังไปรื้อคำให้สัมภาษณ์เก่าๆ ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งยังเป็น อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ย้ำท่าทีว่า จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และ 2 โดยให้เหตุผลว่าไม่อยาก “ขยับเยอะเกินไป” หรือ “แหลมเกินไป” จนทำให้การแก้ไขไม่สำเร็จ
สำหรับการเคลื่อนไหวในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็ได้เห็นความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน ระหว่างสองพรรคนี้ นั่นคือ พรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำได้ร่วมกันลงชื่อในญัตติด่วน แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเพื่อเปิดประตูนำไปสู่การตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างฉบับใหม่ โดยยืนยันว่าไม่แตะต้องใน หมวดที่ 1 และ 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในญัตติดังกล่าว พรรคก้าวไกลได้ถอนชื่อออกไป และต่อมาก็มีการแถลงจากพรรคก้าวไกล ว่า สาเหตุที่ไม่ร่วมลงชื่อ เพราะมีการจำกัดไม่แก้ไขในหมวดดังกล่าวนั่นเอง พร้อมทั้งมีการแถลงจุดยืนของพรรคว่า หากมี ส.ส.ร. ก็จะต้องไม่กำหนดกรอบในการแก้ไขในทุกมาตรา และย้ำว่า พรรคก้าวไกล จะเสนอญัตติแก้ไขไปอีกฉบับหนึ่ง แต่คำถามก็คือ จะสามารถหา ส.ส.จากพรรคอื่นมาลงชื่อสนับสนุนได้ครบ 98 คนหรือไม่ เพราะ ส.ส.ของพรรค มีแค่ 54 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี บทบาทของพรรคก้าวไกล และแกนนำกลุ่มก้าวหน้าที่รับรู้กันว่าเชื่อมโยงกับพรรคก้าวไกล อย่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ล่าสุดก็เปิดศึกวิวาทะกับ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ต้องหาความผิด มาตรา 112 ที่หลบหนีไปต่างประเทศ และถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของเยาวชนที่เคลื่อนไหวโจมตีสถาบันฯ ที่ฝ่ายหลังโจมตี ในเรื่องการแสดงบทบาทที่ไม่ชัดเจน และกดดันให้ออกมานำการชุมนุมก่อนหน้านี้
กลายเป็นว่า มีการโจมตีกล่าวหาระหว่างพวกที่เรียกว่า “นักประชาธิปไตย” พัวพันกันจนน่าเวียนหัว แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าพิจารณากันก็คือ การเคลื่อนไหวทั้งใน และนอกสภาโดยผ่านการชุมนุมของกลุ่มที่มีชื่อว่า “กลุ่มปลดแอก” และ การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น กลายเป็นว่าแต่ละพรรคกำลังดำเนินการเพื่อให้พรรคตัวเองได้ประโยชน์เท่านั้น เช่น พรรคเพื่อไทย ก็จะแก้ไขในประเด็นที่ตัวเองจะกลับมาได้เปรียบผ่านการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคก้าวไกล ที่จะว่าไปแล้วพวกเขาก็ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากที่สุด หากพิจารณาจากจำนวน ส.ส.ในเวลานี้ จนมีคำถามตามมาว่า ตั้งใจจะแก้ไขจริงหรือว่ามีเจตนาป่วนเท่านั้น !!