ลูกเหลิม “วัน อยู่บำรุง” ส.ส.เพื่อไทย เตือน “รังสิมันต์ โรม” อย่าเหิมเกริม อวดดี ลามไปถึงพรรคก้าวไกล “ก้าวใกล้ๆ ให้ผ่านก่อน” ชี้จะทำอะไร หัดเห็นหัวผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนบ้าง หลังเตรียมกัดกันเองในที่ประชุมวิปฝ่ายค้าน โวยทำไม “เพื่อไทย” ยื่นอภิปรายไม่ลงมติ แทนที่จะโหนกระแสม็อบร้องยุบสภา และถามความชัดเจนแก้มาตรา 272 โละ ส.ว.สรรหา
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. เฟซบุ๊ก Wan Ubumrung ของ นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย บุตรชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความระบุว่า “อยู่ฝ่ายเดียวกันแท้ๆ อย่าเหิมเกริมอวดดี ถือเด่นว่าข้าแน่ให้มันมากเกินไป...เจ้ายังเด็กเล็กนัก ประสบการณ์ต้องใช้อายุและความเจ็บปวดแลกมา” ข้อความต่อมาระบุว่า “พรรคการเมืองบางพรรค จะทำอะไร หัดเห็นหัวผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนบ้าง อย่าปั่นสร้างกระแสไปวันๆ ผลงานก็ยังไม่เคยมี ได้แต่ขายฝันไปวันๆ” และอีกข้อความหนึ่งระบุว่า “ก่อนจะก้าวไปได้ให้ไกล ก้าวใกล้ๆ ให้ผ่านก่อนนะ...กลัวหกล้ม”
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ในวันนี้ (25 ส.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) โดยมี 2 ประเด็นที่จะต้องพูดคุย คือ 1. กรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้เป็นการยื่นร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น โดยอ้างว่าจากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ประชาชนได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล และมีข้อเรียกร้องถึงขั้นที่จะให้ยุบสภาแล้ว
ดังนั้น หาก ส.ส.จะใช้สิทธิในการเปิดอภิปรายทั่วไปก็ควรเป็นการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151 มากกว่า การที่พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะอภิปรายตามมาตรา 152 ในทางปฏิบัติจะกลายเป็นเพียงการหยิบยื่นโอกาสให้รัฐบาลได้หาข้อแก้ตัวให้กับการกระทำของตัวเอง โดยที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถใช้อำนาจที่มีในการลงโทษรัฐบาลได้เลย ดังนั้น จึงต้องหารือกันในวิปวันพรุ่งนี้ว่าเพราะเหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงรีบเข้าชื่อเสนอการอภิปรายทั่วไปขนาดนี้ ไม่ปรึกษาพรรคร่วมฝ่ายค้านให้ดีก่อนถึงผลดีผลเสีย
และ 2. ทวงถามความชัดเจนในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลมีอำนาจในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นผู้ริเริ่มในการจะเสนอญัตติดังกล่าว และเคยมีการหารือในที่ประชุมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านมาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องเข้าชื่อโดย ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร คือ 98 คน แต่พรรคก้าวไกลมี ส.ส.เพียง 54 คน จึงต้องอาศัยการร่วมเข้าชื่อจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จึงจะสามารถเสนอญัตติดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาได้