อนุ กมธ.ฝ่ายค้าน เรียกหาหนังสือมอบอำนาจเต็มพิสูจน์ซื้อเรือดำน้ำจีทูจี ยันค้านทุกงบซื้อยุทโธปกรณ์ ทร. จี้นายกฯ หยุดหรือเลื่อนออกไปเพื่อปากท้อง ปชช. ชี้ถ้าเก๊ชงศาล รธน. ขู่ กมธ.ยกมือหนุนรับผิดชอบ ดันทุรังเจอซักฟอก ปัด พท.โยงเล่นการเมือง
วันนี้ (25 ส.ค) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ร่วมแถลงข่าวกรณีกองทัพเรือออกมาชี้แจงถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน จำนวน 2 ลำ มูลค่า 22,500 บาท ที่มีประเด็นพาดพิงมาถึงพรรคเพื่อไทยและคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่โหวตคัดค้านว่า หลังจาก พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการกองทัพเรือ และโฆษกกองทัพเรือ ออกมาระบุว่า การพูดของตน สร้างความเสียหาย ทำให้เกิดความแตกแยก เกลียดชัง และขอให้ประชาชนอย่าตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งสิ่งที่โฆษกกองทัพเรือพูดไม่เป็นความจริง ตนก็รักกองทัพเรือ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานปกป้องอธิปไตยของประเทศ การออกมาตั้งข้อสังเกตุการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่า 2.25 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นการทำหน้าที่ของ ส.ส.และกรรมาธิการฯ ที่จะต้องตรวจสอบ ซึ่งไม่เหมาะกับสถานการณ์ประเทศที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตนไม่ได้ต้องการที่จะทำให้คนเกลียดกองทัพเรือ
นายุทธพงศ์กล่าวว่า การที่กองทัพเรือระบุว่า งบประมาณ 2.25 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นงบประมาณกองทัพเรือ ก็ไม่จริง แต่ล้วนมาจากเงินภาษีประชาชน ที่ตนคัดค้านเป็นเพราะประเทศกำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และไวรัสโควิด รัฐบาลก็ไม่มีเงิน ไปกู้เงินมาจนเกือบเต็มเพดานการคลัง หากนำเงินที่จะไปซื้อเรือดำน้ำมาช่วยประชาชนที่กำลังอดอยากถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญมากกว่า และที่บอกว่าการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ไม่มีผลผูกพันกับลำที่ 1 ที่ซื้อไปแล้วและเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้น คิดว่าไทยคุยกับจีนได้ เพราะตอนนี้เราประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ โควิด เชื่อว่าจีนก็คงเห็นใจและอะลุ้มอล่วยกันได้ โดยไม่มีปัญหาทางความสัมพันธ์
นายยุทธพงศ์กล่าวว่า การจัดซื้อที่มีการระบุว่าเป็นจีทูจีจริงหรือไม่นั้น ตนได้เรียกร้องตั้งแต่แรกแล้วว่าหากมีการมอบอำนาจให้กองทัพเรือเป็นตัวแทนจริงจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจฉบับเต็ม หรือที่เรียกว่า Full Powers มาแสดง แต่ในการแถลงข่าวของกองทัพเรือกลับไม่มีการพูดเรื่องนี้และไม่ได้นำหนังสือดังกล่าวมาแสดง หากย้อนไปดู คำพิพากษาศาลฎีกา เคยมีคำพิพากษา การจัดซื้อรถ เรือดับเพลิงของ กทม. ที่ไทยจัดซื้อกับประเทศออสเตรีย ว่าการจัดซื้อระหว่างจีทูจีต้องเป็นระหว่างรัฐบาลจริงๆ ไม่ใช่กับตัวแทนหรือรัฐวิสาหกิจ แม้ครม.มอบให้พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย ก็ไม่พบหนังสือมอบอำนาจจากทางไทย รวมทั้งในการไปลงนามของ พล.ร.อ.ลือชัย ก็ไปลงนามกับ ประธานบริษัทไชน่า ชิปบิลดิ้ง แอนด์ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (CSOC) ซึ่งหน่วยงานนี้ ก็ไม่ได้มีหนังสือรับมอบอำนาจจาก ประธานาธิบดีจีน หรือรัฐบาลจีนแต่อย่างใด แต่เป็นองค์การบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทางกองทัพเรือได้ไปร่วมลงนามด้วย รวมทั้งการไปเจรจาลงนามการซื้อขนาดนี้ ทำไมถึงไม่มีภาพถ่ายการจับมือระหว่างสององค์กรออกมา แตกต่างจากเอกสารเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เคยลงนามบันทึกความเข้าใจกับ รมว.กลาโหมของจีน ว่าด้วยความร่วมมือการป้องกันประเทศ ก็ไม่ได้มีข้อตกลงเพื่อให้ซื้อเรือดำน้ำเลย เป็นเพียงข้อตกลงเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพร่วมกัน
“ขอเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ กราบวิงวอนให้ไปบอกกองทัพเรือให้หยุดการซื้อเรือดำน้ำ เห็นแก่ความเดือดร้อนประชาชน ความอดอยาก แต่ถ้าต้องการซื้อจริง ก็ขอให้เลื่อนไปก่อน เอาไว้ถ้าภาวะการเงิน การคลังของประเทศดีขึ้นค่อยซื้อ การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนตอนนี้ด่วนกว่า การประชุมกรรมาธิการงบประมาณ วันที่ 26 ส.ค.เวลา 13.00 น. พรรคเพื่อไทยจะขอสู้ต่อ เพื่อนำไปสู่การเลื่อนหรือยกเลิกไปก่อน ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะเรือดำน้ำเท่านั้น แต่ถ้ารวมเบ็ดเสร็จของกองทัพเรือ ประกอบด้วย เรือดำน้ำทั้งหมด 3 ลำ เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ที่สนับสุนติดตามอีก 1 ลำ การสร้างที่จอดเรือ ยังไม่นับการซ่อมบำรุง การดูแลรักษา ที่ต้องตั้งงบประมาณทุกปี เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 5 หมื่นล้านบาท” นายยุทธพงศ์กล่าว
นายยุทธพงศ์กล่าวอีกว่า ประเด็นที่มีข้อสงสัยในการประชุมอนุกรรมาธิการฯครุภัณฑ์ ที่มีนายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานการประชุม ที่มีการล็อบบี้จากบุคคลภายนอก และมีการเรียกหาเทปบันทึกเสียงจากตนนั้น ก็ต้องบอกว่า ไม่มี แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจ ขอให้นายสุพลทำหนังสือไปถึง บริษัทที่ให้บริการมือถือเพื่อขอบันทึกการโทร.เข้าโทร.ออกในวันที่ 21 ส.ค.ซึ่งเป็นวันประชุมอนุกรรมาธิการฯกับกองทัพเรือเรื่องเรือดำน้ำ ก็คงจะได้รู้ว่ามีเบอร์โทรศัพท์ใครโทร.เข้าโทร.ออกมาบ้าง
เมื่อถามว่าหากตรวจสอบเป็นจีทูจีเก๊จะดำเนินการอย่างไรต่อ นายยุทธพงศ์กล่าวว่า กรรมาธิการงบประมาณฯที่จะมีการประชุมในวันที่ 26 ส.ค. ที่ยกมือสนับสนุน จะต้องรับผิดชอบ โดยตนจะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 นำเรื่องนี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญให้ได้
ด้านนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่า กองทัพเรือจะขนกำลังพลออกมาเยอะขนาดนี้ และยังพยายามจะลากอนุ กมธ.ไปสู่ผลทางการเมือง เสมือนว่า ถ้าใครคัดค้านเรือดำน้ำจะทำคนในชาติเกลียดกัน แต่ถ้าใครยกมือจะทำให้ประเทศปรองดอง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ เพราะไม่ใช่ว่า เราไม่เห็นด้วยกับการสร้างศักยภาพของกองทัพเรือเพื่อดูแลผลประโยชน์ของประเทศ แต่ในยามวิกฤตแบบนี้ แม้ในอนุ กมธ.จะต่อรองให้ซื้อก่อนเพียง 1 ลำ กองทัพเรือก็ไม่ยอม อยากได้เรือดำน้ำตามที่ขอมาอย่างเดียว ทำเหมือนเด็กน้อยงอแง ร้องไห้กระทืบเท้าจะกินขนมให้ได้ แล้วพาลมาถึงพรรคเพื่อไทย ทั้งๆ ที่วันนี้ประเทศเจอสารพัดปัญหา แทบไม่มีเงิน ถังแตก และอาจจะต้องกู้เงินเพิ่ม บริบทแบบนี้จึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
“ผมเชื่อว่าถ้าชะลอโครงการออกไปจีนจะเข้าใจ เพราะวิกฤตโควิดเกิดขึ้นจากบ้านเขา แล้วนำไปประเทศอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาจีนในฐานะพี่เบิ้มใหญ่ เป็นตั่วเฮีย ที่นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 เราเอาใจเขาทุกเรื่อง การชะลอโครงการออกไปจีนด้วยเห็นแก่น้องคนนี้ จีนน่าจะเข้าใจ จึงอยากขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมทั้งขุนพลสอพลอทั้งหลายเห็นแก่ความเดือดร้อนของประชาชน ช่วยทำให้กองทัพเรือชะลอโครงการออกไปก่อน ผมไม่คัดค้านอยู่แล้ว ถ้าเรารวยเมื่อไหร่จะซื้อมาจอดให้เต็มน่านน้ำ เอาให้ล้นเข้ามาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้เด็กๆ ดูเลยก็ยังได้ แต่วันนี้ขอวิงวอนลุงตู่ในฐานะที่เคยจับคอกันในตอนที่ไปเยี่ยมจังหวัดสุรินทร์ วันนี้ท่านต้องฟังไม่อย่างงั้นจะเหนื่อยและเดือดร้อนในวันข้างหน้า พรุ่งนี้ถ้าผ่าน กมธ.งบ 64 วาระสองก็ไม่ยอมและจะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่ลงมติตาม ม.152 ที่จะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ย.นี้” นายครูมานิตย์กล่าว
ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่กองทัพเรือพาดพิงมายังพรรคเพื่อไทยนั้น ยืนยันว่าเราไม่ได้นำเรื่องนี้มาเล่นการเมือง พรรคไม่ได้มีอคติ แต่การจัดซื้อเรือดำน้ำ เป็นการทำงานในคณะ กมธ.งบประมาณฯ โดยอนุ กมธ.ได้ตรวจสอบหลักฐาน และคำชี้แจงที่กองทัพเรือในชั้น กมธ.งบประมาณ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของสภาฯ เพราะ กมธ.ไม่เห็นความสำคัญในการจัดซื้อ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะ แต่กองทัพเรือต่างหากเป็นผู้เปิดประเด็นนี้ให้เป็นเรื่องการเมือง ด้วยการพาดพิงโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ซึ่งพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นประโยชน์แก่ประชาชน แต่โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างไร ในสถานการณ์ที่ประเทศมีปัญหาทางการเงินการคลังอยู่ในขณะนี้