xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดี! “สุวินัย” โล่งอกกับ “ชัยชนะ-หมาหัวเน่า-พวกโดนเท” อดีตรองอธิการ มธ.ทวนความจำ “พระบารมี ร.๙”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ เพนกวิน แจกข้อเรียกร้อง 10 ข้อในม็อบประชาชนปลดแอก จากแฟ้ม
ถอดชนวนระเบิดด้วยดี “สุวินัย” วิเคราะห์ “ม็อบประชาชนปลดแอก” มาถูกที่ถูกเวลา ชี้มีทั้ง “ชัยชนะ-หมาหัวเน่า-พวกโดนเท” อดีตรองอธิการฯ มธ. เตือนความจำ “พฤษภาทมิฬ” ยุติได้ เพราะพระบารมี ร.๙ “ชาญวิทย์” ชื่นมื่น กับ “3 ความเป็นไปได้”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (17 ส.ค. 63) เฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ของ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์หัวข้อ “การช่วยถอดชนวนระเบิดของการชุมนุมเมื่อคืน”

โดยระบุว่า “การชุมนุมเมื่อคืนของม็อบ “ประชาชนปลดแอก” ในมุมหนึ่งคือ #การช่วยถอดชนวนระเบิดอันเนื่องจาก “ข้อเสนอ 10 ข้อ” ของกลุ่มเพนกวินนะ
ผมขอไม่เรียกกลุ่มเพนกวิน ว่า “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” อีกต่อไปแล้ว

เพราะ
(1) กลุ่มเพนกวินถูกยึดการนำไปแล้วจากม็อบเมื่อคืนที่ลดข้อเรียกร้องเหลือแค่ 3 ข้อดังเดิม
แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ “ข้อเสนอ 10” ของกลุ่มเพนกวินที่มุ่งลดพระราชอำนาจ กับมุ่งควบคุมสถาบันกษัตริย์แบบเบ็ดเสร็จ

(2) ซึ่งไม่มีฝ่ายไหนแม้แต่ฝ่ายค้าน รวมทั้งม็อบประชาชนปลดแอกเมื่อคืนกล้าเอาด้วย

ภาพ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย จากเฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai
(3) พอเป็นแบบนี้ สิ่งที่เป็น Paradox จึงเกิดขึ้น คือ ฝ่ายค้าน รัฐบาล ที่ออกมาชุมนุมเมื่อคืนในจำนวนร่วมหมื่นคน โดยมีมวลชนแดงกับมวลชนส้มเป็นหลัก และมีการพูดถึงข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่หลากหลายบนเวทีชุมนุม... มาช่วยลดดีกรีความร้อนแรงของการเผชิญหน้ากันเรื่องสถาบันฯอย่างฮวบฮาบ แบบไม่ต่างกับการเทน้ำราดรดกองไฟจากพวกเดียวกัน
(5) สังคมไทยมักมีเรื่องคาดไม่ถึง และจบลงอย่างหักมุมเสมอ ผมมองว่านี่คือรูปแบบของ “ความอดกลั้น” ในแบบไทยๆ #ฝ่ายค้านสามารถรักษาขุมพลังส่วนใหญ่เอาไว้ได้ สามารถหลีกเลี่ยงการบานปลายที่อาจนำไปสู่การรัฐประหารครั้งใหม่ได้

(6) นี่คือ ผลลัพธ์แบบวิน-วิน ที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อคืนนี้ และถือเป็น “ชัยชนะ” ของสังคมไทยโดยรวมได้ ... #ผมโล่งอกนะที่ผลออกมาแบบนี้

(7) “กลุ่มประชาชนปลดแอก” จึงไม่น่าจัดชุมนุมยืดเยื้อบนถนนอีก ถ้าพิจารณาจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ที่ขัดแย้งกันเองระหว่างข้อเรียกร้องยุบสภา กับข้อเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญ

(8) คนที่จะอ่วมหลังจากนี้ คือ เพนกวินและสหาย ซึ่งคงจะโดนคดีจนอ่วมอันเนื่องมาจาก “ข้อเสนอ 10 ข้อ” ที่มุ่ง “ล้มสถาบันฯ” ....บัดนี้ กลุ่มเพนกวินกลายเป็น “กลุ่มหมาหัวเน่า” ในสังคมนี้ไปแล้ว ...ใครก็ตามที่ยังพยายามผลักดันชุดความคิดล้มเจ้าตามข้อเสนอ 10 ข้อนี้ น่าจะโดนแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายเป็นรายตัว อย่างเฉียบขาด
(9) กลุ่มอาจารย์ 105 คน (เพิ่มเป็น 357 คนในภายหลัง) ที่ออกมาหนุนกลุ่มเพนกวินในตอนแรกๆ ก็ถือว่า พลาดอย่างแรง พอๆกับเพนกวิน ...จึงควรถูกสอบทางวินัยเป็นรายตัว เพราะกลุ่มอาจารย์กลุ่มนี้ก็โดนพวกเดียวกัน “เท” ทิ้งเช่นกัน เหมือนกับกลุ่มเพนกวิน

(10) #ละครตลกร้ายเรื่องเพนกวินและอานนท์ ปิดฉากไปแล้วเมื่อคืน ปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องจากวิกฤตโควิดกำลังรอทุกคนอยู่ ...วิกฤตเศรษฐกิจนี้ต่างหากคือวิกฤตของจริงและเร่งด่วน”

ภาพ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr
วันนี้เช่นกัน เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า

“ได้เห็นข้อความที่มีคนแชร์กัน เป็นข้อความของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจกุล ตัดสินว่า การขึ้นปราศรัยของแกนนำบนเวทีที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีอะไรผิด โดยมีเหตุผลว่า

“ผู้ขึ้นปราศรัยทำผิดเพียงเพราะว่า นำสิ่งที่ผู้ใหญ่ซุบซิบนินทากันในที่ลับ มาพูดอย่างมีวุฒิภาวะในที่แจ้ง”

เป็นความเห็นคล้ายกับ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่นอกจากบอกว่า มีการซุบซิบนินทาอยู่แล้ว ยังเชิญชวนให้ผู้ที่เคยซุบซิบนินทามาร่วมขบวนการด้วย

ผมกับ อ.ธงขัย มีความคุ้นเคยกันพอสมควร เมื่อผมเริ่มเข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2521 อ.ธงชัยเพิ่งกลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อ หลังจากได้รับการนิรโทษกรรมจากคดีการชุมนุม ในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519

เมื่อผมรับตำแหน่งผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา (ปัจจุบันเรียกผู้ช่วยอธิการบดี) อ.ธงชัย แม้ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ของนักศึกษา แต่ก็ทำหน้าที่เสมือนเป็นที่ปรึกษาอาวุโส ขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)

ผมจึงไม่แปลกใจ เพราะพอจะทราบแนวความคิดของ อ.ธงชัย พอสมควร
ผมไม่ปฏิเสธว่า มีการการซุบซิบนินทากันในที่ต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จริง เนื่องจากพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ต่างก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเช่นเดียวกับเราๆ แต่ละพระองค์อาจมีจุดอ่อนที่เป็นเหตุให้คนนำมาซุบซิบนินทากันในที่ลับมากบ้างน้อยบ้าง

แต่การซุบซุบนินทาไม่เหมือนกับการดูหมิ่น เยาะเย้ย ถากถาง กล่าวหา ให้ร้าย ครั้งแล้วครั้งเล่าบนเวที ซึ่งเป็นที่สาธารณะในวันนั้น ซึ่งไม่แน่ว่าจะเป็นการแสดงออกที่มีวุฒิภาวะสักเท่าไหร่

ที่สำคัญที่สุด คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะซุบซิบนินทาหรือไม่ก็ตาม ยังคงคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญและมีคุณูปการต่อประเทศชาติ และไม่ต้องการให้มีใครล้มล้าง เปลี่ยนการปกครองไปเป็นระบอบประธานาธิบดี

คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองที่พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ แต่มองที่สถาบันพระมหากษัตริย์โดยรวม และคุณูปการที่พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ที่ทรงมีต่อประเทศไทย
เมื่อครั้งมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนในประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2531 นักศึกษาพม่าต้องเผชิญกับการปราบปรามของรัฐบาลทหาร เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 3 พันคน

ยังจำได้ว่า ในช่วงนั้น ผมนั่งทำงานในห้องทำงานที่ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนาเรื่องการประท้วงข้างต้น กับท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันท่านก็มีความเห็นสนับสนุน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กับข้อเรียกร้อง 10 ข้ออย่างสำคัญ

เราพยายามวิเคราะห์การประท้วงของนักศึกษาพม่า ที่ลุกลามบานปลายจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ต่างจากการประท้วงในประเทศไทย ที่ไม่เคยมีการลุกลามถึงขั้นนั้น ว่าเป็นเพราะเหตุใด

ผมเอ่ยขึ้นว่า
“เป็นเพราะพม่าไม่มีพระเจ้าอยู่หัวแบบประเทศไทย”
ท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนั้นกล่าวตอบว่า
“อาจารย์พูดถูก”

หลังจากนั้น อีก 4 ปี ก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่หวุดหวิดจะเกิดการนองเลือดอย่างมาก แต่ก็เป็นเพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เหตุการณ์จึงสงบลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ต่อมาพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร (รสช.) พยายามเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ แต่เป็นเพราะพระองค์ท่าน และประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาในขณะนั้นคือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่ทำให้ประชาชนเฮกันทั้งประเทศ ด้วยความสะใจ เพราะนายกรัฐมนตรีที่โปรดเกล้าฯลงมาไม่ใช่ พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ แต่เป็น คุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศ

ลืมเรื่องนี้กันแล้วหรือครับ”

ภาพ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ ปิยบุตร จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อีกด้านหนึ่ง ที่รู้กันดีว่า ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกคนที่สนับสนุน แนวทาง พรรคอนาคตใหม่ และคณะก้าวหน้า ซึ่งสนับสนุนข้อเรียกร้อง 10 ข้อของ ม็อบธรรมศาสตร์ ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Charnvit Kasetsiri ระบุว่า

“แล้วการเมืองไทย จะออกหัวออกก้อยอย่างไร
1. win or lose แพ้-ชนะ กันไปข้างหนึ่ง หรือ
2. compromise เกี้ยเซี๊ยะ/ประนีประนอม หรือ
3. stalemate ติดกัก ?”

แน่นอน, ประเด็นอยู่ที่แง่มุมวิเคราะห์ของ รศ.ดร.สุวินัย ที่ทำให้เห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอ 10 ข้อ ต่อการปฏิรูปสถาบันนั้น เหมือนการเอาระเบิดเวลาไปซุกไว้ใน “ก้นบึ้งหัวใจ” ของคนไทยทั้งประเทศ และเมื่อจุดชนวนเมื่อไหร่ มันคือ การนับถอยหลังทันที ซึ่งเป็นเรื่องดีที่พวกกันเองเป็นผู้ถอดชนวน

สรุปว่า ชัดเจนตอนนี้ก็คือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง เห็นตัวแล้วว่า ใครมีแนวความคิด “ปฏิรูปสถาบัน” ใครมีแนวความคิด “ปฏิรูปการเมือง” คือ นำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่สมบูรณ์ ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตย คนไทยจะได้เลือกที่จะสนับสนุนได้ถูกคนถูกประเด็นเสียที หลังจากประชาชนถูกปลุกปั่นยุยงจากฝ่ายที่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกรุนแรง จนเลอะเทอะไปหมด

แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่สังคมไทยจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ก็คือ การแทรกซึมเข้าไปในโรงเรียน ที่เด็กนักเรียนยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอในการคิดวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสีย หรือที่เราเรียกกันว่า ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั่นเอง นี่คือ เรื่องน่าเศร้า ที่ไม่รู้คนพวกนี้เอาอะไรทำหัวจิตหัวใจ เพราะมันต้องแลกด้วยอนาคตของเด็ก และการตกเป็น “เหยื่อ” อย่างเห็นได้ชัด

ใครก็รู้ว่า เด็กชอบเสรีภาพอยู่แล้ว ยิ่งไร้ขอบเขตเท่าไหร่ยิ่งดี ยิ่งกบฏพ่อแม่ ครูอาจารย์ได้ยิ่งท้าทาย อย่าเอาจุดนี้มาล่อหลอกเด็กในทางการเมือง แล้วหนุนหลังว่าเขาคิดเองได้ และเอาเด็กเป็นตัวประกัน ในการต่อสู้ของตัวเองอย่างหน้าตัวเมีย โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง น่าจะรู้ตัวดี ว่าลูกคุณพร้อมต่อสู้เพื่อปฏิรูปสถาบันหรือยัง???


กำลังโหลดความคิดเห็น