อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ขอความเล่าถึงความสำคัญของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เผยประชาชนส่วนใหญ่ยังคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการต่อประเทศ พร้อมพาย้อนอดีตเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็ได้บารมีในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยุติเหตุนองเลือด
วันนี้ (17 ส.ค.) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Harirak Sutabutr” ถึง ศ.ดร.ธงชัย วินิจกุล อดีตเป็นผู้นำนักศึกษาซึ่งถูกจับกุมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลัง ศ.ดร.ธงชัย ออกมาให้ท้ายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีอะไรผิด โดยมีเหตุผลว่า
“ผู้ขึ้นปราศรัยทำผิดเพียงเพราะว่านำสิ่งที่ผู้ใหญ่ซุบซิบนินทากันในที่ลับ มาพูดอย่างมีวุฒิภาวะในที่แจ้ง”
ทำให้ รศ.หริรักษ์ ต้องออกมาโพสต์ข้อความเพื่อสร้างความเข้าใจและความแตกต่างของคำว่า “ซุบซิบนินทา” กับคำว่า “ดูหมิ่น เยาะเย้ย ถากถาง” โดยได้ระบุข้อความว่า
“ได้เห็นข้อความที่มีคนแชร์กัน เป็นข้อความของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจกุล ตัดสินว่าการขึ้นปราศรัยของแกนนำบนเวทีที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีอะไรผิด โดยมีเหตุผลว่า
“ผู้ขึ้นปราศรัยทำผิดเพียงเพราะว่านำสิ่งที่ผู้ใหญ่ซุบซิบนินทากันในที่ลับ มาพูดอย่างมีวุฒิภาวะในที่แจ้ง
เป็นความเห็นคล้ายกับ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่นอกจากบอกว่ามีการซุบซิบนินทาอยู่แล้ว ยังเชิญชวนให้ผู้ที่เคยซุบซิบนินทามาร่วมขบวนการด้วย ผมกับ อ.ธงชัย มีความคุ้นเคยกันพอสมควร เมื่อผมเริ่มเข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2521 อ.ธงชัยเพิ่งกลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อ หลังจากได้รับการนิรโทษกรรมจากคดีการชุมนุมในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519
เมื่อผมรับตำแหน่งผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา (ปัจจุบันเรียกผู้ช่วยอธิการบดี) อ.ธงชัย แม้ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ของนักศึกษา แต่ก็ทำหน้าที่เสมือนเป็นที่ปรึกษาอาวุโสขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ (อมธ.) ผมจึงไม่แปลกใจ เพราะพอจะทราบแนวความคิดของ อ.ธงชัย พอสมควร ผมไม่ปฏิเสธว่ามีการการซุบซิบนินทากันในที่ต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จริง เนื่องจากพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ต่างก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเช่นเดียวกับเราๆ แต่ละพระองค์อาจมีจุดอ่อนที่เป็นเหตุให้คนนำมาซุบซิบนินทากันในที่ลับมากบ้างน้อยบ้าง แต่การซุบซุบนินทาไม่เหมือนกับการดูหมิ่น เยาะเย้ย ถากถาง กล่าวหา ให้ร้าย ครั้งแล้วครั้งเล่าบนเวทีซึ่งเป็นที่สาธารณะในวันนั้น ซึ่งไม่แน่ว่าจะเป็นการแสดงออกที่มีวุฒิภาวะสักเท่าไหร่ ที่สำคัญที่สุดคือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะซุบซิบนินทาหรือไม่ก็ตาม ยังคงคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญและมีคุณูปการต่อประเทศชาติ และไม่ต้องการให้มีใครล้มล้าง เปลี่ยนการปกครองไปเป็นระบอบประธานาธิบดี
คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองที่พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ แต่มองที่สถาบันพระมหากษัตริย์โดยรวม และคุณูปการที่พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ที่ทรงมีต่อประเทศไทย เมื่อครั้งมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนในประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2531 นักศึกษาพม่าต้องเผชิญกับการปราบปรามของรัฐบาลทหาร เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 3 พันคน ยังจำได้ว่าในช่วงนั้น ผมนั่งทำงานในห้องทำงานที่ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนาเรื่องการประท้วงข้างต้น กับท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันท่านก็มีความเห็นสนับสนุน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กับข้อเรียกร้อง 10 ข้ออย่างสำคัญ
เราพยายามวิเคราะห์การประท้วงของนักศึกษาพม่า ที่ลุกลามบานปลายจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ต่างจากการประท้วงในประเทศไทย ที่ไม่เคยมีการลุกลามถึงขั้นนั้น ว่าเป็นเพราะเหตุใด
ผมเอ่ยขึ้นว่า
“เป็นเพราะพม่าไม่มีพระเจ้าอยู่หัวแบบประเทศไทย”
ท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนั้นกล่าวตอบว่า
“อาจารย์พูดถูก”
หลังจากนั้นอีก 4 ปี ก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่หวุดหวิดจะเกิดการนองเลือดอย่างมาก แต่ก็เป็นเพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เหตุการณ์จึงสงบลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ ต่อมาพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร (รสช.) พยายามเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ แต่เป็นเพราะพระองค์ท่าน และประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ในขณะนั้นคือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่ทำให้ประชาชนเฮกันทั้งประเทศ ด้วยความสะใจ เพราะนายกรัฐมนตรีที่โปรดเกล้าฯลงมาไม่ใช่ พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ แต่เป็น คุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศ
ลืมเรื่องนี้กันแล้วหรือครับ”