xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ย้ำแก้ รธน.ต้องใช้เสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 84 เชื่อพร้อมลงมติ นายกฯ ควรเปิดอภิปรายทั่วไปหาทางออกลดความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา
“คำนูณ” ย้ำจะแก้ รธน.ต้องใช้เสียงวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 84 เสียง เชื่อ ส.ว.พร้อมลงมติตามผลประโยชน์ประชาชน แต่ฟันธงยังไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นร่างแก้ไข รธน.ที่เสนอมา แนะควรเปิดอภิปรายทั่วไปหารือทางออกแก้ รธน.-ความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 15 ปีที่ผ่านมา


วันนี้ (17 ส.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ถึง 272 เพื่อตัด ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล 250 คนออกว่า สมาชิกวุฒิสภาทุกคนเข้ามาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่แน่นอนว่าเมื่อมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนก็ต้องรับฟัง แต่ในขณะนี้ต้องให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาว่าไม่ว่าจะชอบหรือจะชังรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ตามระบบที่มีอยู่ จำเป็นจะต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84 คน ทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ถ้าจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปอย่างไร จะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. หรือไม่ หรือจะแก้ไขรายประเด็น หรือจะไม่ชอบวุฒิสภายังไงก็ตามแต่ หากแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา 84 คน ไม่เช่นนั้นก็มีแค่ 2 วิธี คือ การรัฐประหารอีกครั้งเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วร่างกันใหม่ หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดการปฏิวัติประชาชนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้ง 2 ทางมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองทั้งสิ้น จึงเห็นควรว่าให้ใช้เวทีรัฐสภาเป็นที่แก้ปัญหา

นายคำนูณเชื่อว่า สมาชิกวุฒิสภาทุกคนพร้อมลงมติ ตามผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบคอบและรอบด้าน แต่ขณะนี้จะให้แต่ละคนบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังไม่เห็นโจทก์หรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภาก็พร้อมติดตามอย่างใกล้ชิด และหากมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาก็พร้อมนำมาศึกษาในคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา หรือสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนก็จะนำมาศึกษา เพื่อตัดสินใจประกอบการลงมติ

นายคำนูณกล่าวว่า ความคืบหน้าเบื้องต้นจะอยู่ที่สัปดาห์นี้ที่ต้องดูว่าพรรคฝ่ายค้านจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาลรวมถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีกำหนดจะรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 กันยายน และถ้ามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากพรรคฝ่ายค้านเข้ามา คณะรัฐมนตรีจะต้องเสนอร่างของคณะรัฐมนตรีเข้ามาประกบเพื่อพิจารณาร่วมกันด้วย ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นโจทก์ก็จะชัดเจนมากขึ้น ว่ามีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมดกี่ร่าง รวมถึงร่างที่ประชาชนจะนำเสนอเข้ามาด้วย ซึ่งจะได้นำมาศึกษาและตัดสินใจกัน

นายคำนูณกล่าวด้วยว่า ต้องเข้าใจว่าขณะนี้สมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบของสมาชิกวุฒิสภาถึง 84 คน ตนเองเคยเรียกร้องตั้งแต่ปีที่แล้ว และล่าสุดยังเสนออยู่ว่าสมควรจะมีเวทีให้ตัวแทนของสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปร่วมหารือด้วย ขณะนี้ก็ยังสามารถทำได้ และไม่ใช่เฉพาะแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 15 ปี ที่ผ่านมาก็สามารถทำได้โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ซึ่งก็สุดแท้แต่นายกรัฐมนตรี แต่ทางวุฒิสภาก็ตอบได้เพียงเจตนาที่พร้อมจะให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ แม้จะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสถานภาพของวุฒิสภาเอง โดยเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาทุกคนไม่ได้ยึดติดในจุดนี้ เพียงแต่จะให้ตอบชัดเจนตอนนี้ก็ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังไม่เห็นตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น