“ส.ว.คำนูณ”ชี้ ความขัดแย้งคุกรุ่นรอบด้านและไปเร็วมาก หวั่นเกิด 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ รอบ 2 นายกฯ ต้องประคองสถานการณ์ เร่งเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภา รับฟังความเห็น ส.ส.- ส.ว.หาทางออกประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ
หลังจากที่แกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอกที่มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกจับกุมดำเนินคดีกรณีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 18 ก.ค.63 และกำลังจะมีการชุมนุมเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปล่อยตัวแกนนำในช่วงเย็นวันนี้ (8 ส.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn แสดงความเห็นต่อเนื่องดังกล่าว โดยได้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งเสนอขอเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภา
“วันนี้ขอพูดอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ผู้คนกำลังกังวลกันถึงแนวโน้มของเหตุการณ์ 14 ตุลา รอบ 2 หรือไม่ก็ 6 ตุลา รอบ 2 ทำอย่างไรจะยับยั้งได้ เพราะถ้ายับยั้งไม่ได้แล้วเกิดขึ้นทับซ้อนบนมหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี จินตนาการไม่ออกเลยว่าจะทุกข์ยากแสนสาหัสกันขนาดไหน
“ความขัดแย้งร้อนแรงคุกรุ่นรอบด้านและพัฒนาเร็วมากอย่างนี้ ความเห็นเบื้องต้นของผมทั้งในฐานะสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่ง และในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่จะขออนุญาตเสนอท่านนายกรัฐมนตรี ก็คือ โดยหลักแล้วต้องพยายามประคองสถานการณ์ให้ได้รับการแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุดในเวทีรัฐสภา โดยกลไกของรัฐสภา และกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันอย่างไร รายประเด็น หรือตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญกันอีกครั้ง ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการใช้วิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นปฐม
ซึ่งทำให้ไม่ว่าจะรังเกียจวุฒิสภาชุดนี้กันอย่างไร หรือจะรีบร้อนไล่ส่งกันอย่างไร แต่ก็ต้องใช้เสียงของสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 84 เสียงก่อนในการลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งวาระ 1 และวาระ 3
พยายามใช้รัฐสภาเป็นเวทีประนอมอำนาจก่อนดีกว่า
นายกรัฐมนตรีริเริ่มได้ !
โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
และอาจจะจบลงด้วยการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา จะชุดเดียวหรือมากกว่าก็ได้ ให้เวลาจำกัดไว้ ไปร่วมแสวงหาหนทางในรายละเอียดต่อไป
ไม่เว้นแม้แต่หนทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นฉันทมติร่วมกัน
และแน่นอนรวมทั้งหนทางอื่นๆ ในการประสานความคิดที่แตกต่างให้สามารถเดินร่วมกันได้
สารัตถะของมาตรา 165 มีดังนี้
“มาตรา 165 ในกรณีที่มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้”
ทำเสียแต่วันนี้ ยังไม่สายหรอกครับ”