xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านโวยปัดตก พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอ กม. “วิษณุ” แนะให้ สนง.เลขาสภาฯ ดูแลแทนกฤษฎีกา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชุมรัฐสภา ฝ่ายค้านจวก พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอ กม. ชี้ ปชช.เสียสละเวลา-เงินเอง แต่ถูกปัดตกง่ายดาย เหน็บใช้หลักคิดอำนาจไม่ได้เป็นของ ปชช. ส.ว.หวั่นฝ่ายเกี่ยวข้องไม่มีความพร้อม “วิษณุ” แนะให้ สนง.เลขาสภาฯดูแล แทนกฤษฎีกา กันคลางแคลงใจ

วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ... โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลว่า ด้วยเหตุที่คณะรัฐมนตรีลงมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญ จึงขอเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยหลักการคือ การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และยังขาดกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ สมควรปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรา 133(3) มาตรา 256(1) และมาตรา 258 ค.(4) ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ด้าน นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่เคยจริงใจต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน การเสนอกฎหมายที่ผ่านมาเกิดจากความเสียสละเวลาและเงินทุนของประชาชน แต่กลับถูกยุติและปัดตกไปได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่กว่าจะลงทุนลงแรงทำมาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วมีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลมาจำกัดสิทธิของประชาชน หรือเป็นเพราะมาจากหลักคิดที่ว่า อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชนใช่หรือไม่ เพื่อให้อำนาจของประเทศนี้เป็นของคนส่วนน้อยตลอดไป

ขณะที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรช่วยดำเนินการให้ทั้งในการจัดทำร่างกฎหมาย และการรับและรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวนั้น ตนเป็นห่วงเรื่องที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะต้องเตรียมความพร้อมทั้งหน่วยงานและบุคลากรเพื่อมารองรับภารกิจ

นายวิษณุ ชี้แจงอีกว่า การออกกฎหมายครั้งนี้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ หลายท่านห่วงใย ซึ่งรัฐบาลเองก็ห่วงใยที่มอบภาระนี้ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก แต่โดยกลไกแล้วก็ต้องมอบให้องค์กรนี้ เพราะถ้ามอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นของฝ่ายบริหาร ก็อาจจะเกิดปัญหาความคลางแคลงใจกันขึ้นมาอีก ทั้งนี้ เชื่อว่า บุคลากรได้พัฒนาขีดความสามารถมาถึงระดับหนึ่งแล้ว ส่วนเรื่องงบประมาณนั้นก็ได้มีการจัดสรรงบประมาณให้ต่อเนื่องกัน 3 ปี รวมถึงการจัดหาเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศก็จะมีการดำเนินการเพื่ออำนวยประโยชน์ต่อไปด้วย อย่างไรก็ตาม มีถ้อยคำหลายคำในร่างกฎหมายที่อาจจะเกิดปัญหาจริงอย่างที่หลายท่านเป็นห่วง ซึ่งต้องขออนุญาตนำไปปรับปรุงในชั้นกรรมาธิการต่อไป

จากนั้นที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติรับหลักการเห็นชอบ 504 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี งดออกเสียง 49 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง พร้อมทั้งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 49 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน




















กำลังโหลดความคิดเห็น