“สุวินัย” จวกพวก 105 แค่ 0.26% ถ้าร้อนวิชาอยากพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน หัดเกรงใจคนส่วนใหญ่ของประเทศบ้าง “พี่ศรี” ยก รธน. “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ผิดมั้ย?
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (13 ส.ค. 63) เฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์หัวข้อ “ข้อเสนอ 10 ประการของเด็ก กับ ข้อสนับสนุนของ 105 อาจารย์”
โดยระบุว่า “ศาสตราจารย์ ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานะปัจจุบันคือข้าราชการบำนาญ ในฐานะที่เราสองคนเคยประกอบอาชีพเช่นเดียวกับพวกคุณ จึงขอใช้สิทธิเสรีภาพบ้าง
(1) ประเด็นเรื่องการแสดงออกของเด็กที่ธรรมศาสตร์รังสิต เป็นเสรีภาพที่ปราศจากหน้าที่ความรับผิดชอบ แล้วพวกคุณที่อาบน้ำร้อนมาก่อนจะไปให้ท้ายเด็กว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องไปได้อย่างไร?
ประเทศไทย ถ้าจะว่าไปแล้วมั่นคงมาโดยตลอดก็ด้วยปัจจัยหลายประการแต่ที่สำคัญลำดับต้นก็คงไม่พ้นเรื่อง “สถาบัน” เพราะมันก่อให้เกิด ทุนทางสังคม (Social Capital) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
การมี “สถาบัน" อยู่ในสังคมมันเป็นของดี เพราะหมายถึง การมีขอบเขต (Limit) ที่สังคมยอมรับให้กระทำได้ ดังนั้น นักการเมือง หรือพรรคการเมืองในประเทศไทย จึงไม่สามารถเป็น “สถาบัน” ให้ประชาชนยึดเหนี่ยวเอาไว้ได้ เพราะการกระทำของนักการเมือง หรือพรรคการเมืองที่ผ่านมา เป็นไปในลักษณะของการไร้ซึ่งขอบเขต หรือพูดได้ว่า ทำตามอำเภอใจ
ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วจะไปล้มล้าง “สถาบัน” ที่เป็นของดีอยู่คู่บ้านเมืองมานานไปด้วยเหตุอันใด มีสถาบันย่อมดีกว่าไม่มีแน่นอน มีเหตุผลใดที่ต้องไปถกเถียงจำกัดขอบเขตสิ่งดีเล่า?
(2) ข้อเสนอ 10 ประการของเด็ก (ที่ผู้ใหญ่เป่าหูมาโดยตลอด) จึงเป็นการบ่อนทำลายสถาบันนี้โดยตรง
เสรีภาพในการแสดงออก จึงมิใช่เช่นที่ผ่านมา มันขาดความรับผิดชอบ ไม่ได้เสนอทางออกอันใดที่ดีกว่าเอาไว้ให้เลยแม้แต่น้อย มองไม่ต่างจากนักการเมืองที่ชอบ “ทุบ ทำลาย และสร้างใหม่” (วัฒนธรรมคอนกรีต) เพราะรื้อสร้างใหม่มันดูดีมีผลงาน ต่างจากการอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้ที่คนมักไม่สนใจ
(3) สำหรับ 105 อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทำไมพวกคุณจึงใจร้ายไปให้ท้ายเด็กในทางที่ผิดเช่นนี้เล่า?
พวกคุณทำตัวราวกับเป็นหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรที่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า “สามัญสำนึก”
จะมาถกเถียงในเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพรักไปทำไม มันต่างจากการให้ใครก็ไม่รู้มาด่าว่าบุพการีของคนอื่นที่ตรงไหน?
พวกคุณทำตัวเป็นเกลือที่ไม่รู้จักความเค็มโดยแท้
เท่าที่ดูจากรายชื่อส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการ/พนักงานของมหาวิทยาลัย พวกคุณไม่รู้เลยหรือว่า เงื่อนไขการจ้างข้อสำคัญคือ
“เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
ขณะที่รัฐธรรมนูญก็เป็นกติกาที่ทุกคนต้องยอมรับ ถ้าจะไม่รับไม่ปฏิบัติตาม โดยอ้างว่าไม่พอใจในเงื่อนไขบางอย่างที่คนส่วนใหญ่เขายอมรับ ประพฤติตัวเยี่ยงนี้ถือว่าเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่?
หรือว่า ประชาธิปไตยต้องเป็นแบบที่พวกคุณเห็นชอบด้วยเท่านั้นหรือ?
(4) คิดเฉพาะจำนวนอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ... อาจารย์ 105 คน จาก 39,430 คน คือ อยู่ที่ 0.26% เท่านั้น
อาจารย์ 0.26% จากอาจารย์ทั้งหมด กำลังอ้าง “สถานะพิเศษ” ของตนเอง เพื่อสนับสนุนข้อเสนอที่บอกว่า ไม่ควรมีใครมีสถานะพิเศษในสังคมไทย
ถ้านี่เป็นข้อสอบวิชาการใช้เหตุผล อักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปี 1 ควรจะเฉลยคำตอบว่าอะไร?
พวกคุณประกาศตัวเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” แสดงตัวสนับสนุนม็อบเยาวชนปลดแอกที่ท้าชนสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย ... ถ้าพวกคุณร้อนวิชาอยากเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นแค่เสียงส่วนน้อยถึงน้อยมาก ก็ควรหัดเกรงใจคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้บ้าง
(5) ถ้าพวกคุณจะซื่อสัตย์กับตัวเองก็ควรลาออกไป เพราะพวกคุณไม่ได้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่ประการใด
ไปเป็นเสรีชนเถิดจะดีกว่าไหม?
เพราะการลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ของพวกคุณ มีนัยทางการเมืองที่ต่างจากการร่วมลงชื่อในแถลงการณ์อื่นๆ ที่พวกคุณเคยลงชื่อมาทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง
หมึกหยดเดียวที่เซ็นชื่อลงไปในสัญญาย่อมมีผลตามกฎหมายทันทีฉันใด การเข้าร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ของพวกคุณก็ย่อมมีผลเยี่ยงนั้น
... หลังจากนี้พวกคุณก็ต้อง “รับผิดชอบ” สิ่งที่จะตามมาด้วยเช่นกันเหมือนม็อบเยาวชนปลดแอก”
ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ขึ้น ภายในบริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยเฉพาะการปราศรัยและการฉายภาพโปรเจกเตอร์ขนาดยักษ์บนเวที ซึ่งเป็นรูปผู้ต้องหาหนีคดี ม.112 ซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ที่มีข้อความและตราสัญลักษณ์เชิงล้อเลียน และหมิ่นสถาบันฯ รวมทั้งการอ่านแถลงการณ์และแจกจ่ายประกาศของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 10 ข้อ ที่มุ่งให้ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอย่างเปิดเผยนั้น
พฤติการณ์และการกระทำของกลุ่มดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ ม.116 โดยชัดแจ้ง ซึ่งถือว่าเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม เพราะเป็นการก้าวล่วงศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.6 บัญญัติไว้
แต่กลับปรากฏว่า มีแถลงการณ์ของกลุ่ม 105 อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมาในลักษณะปกป้องกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว โดยอ้างว่า 10 ข้อเสนอเหล่านั้น อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะตาม ม.34 และตามครรลองของกฎหมาย บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและข้อเสนอทั้งสิบประการของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
คำแถลงการณ์ดังกล่าว ถ้า 105 อาจารย์จะนำไปสอนนักศึกษาในชั้นเรียนก็คงไม่มีใครตำหนิ หรือก้าวล่วงความคิดเหล่านั้นได้ หากแต่เมื่อนำมาเผยแพร่ต่อสื่อสารมวลชน ย่อมทำให้สาธารณชนรู้จักตัวตนของเหล่าคณาจารย์เหล่านี้ได้อย่างถ่องแท้ ว่า คิดเห็นอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ที่อาจหาญมาแก้ตัวให้เหล่านักศึกษาที่ละเมิดกฎหมายเยี่ยงนี้
การกระทำของเหล่านักศึกษาที่แสดงออกเช่นนี้ อดให้นึกถึงหนังสือเรียนเด็กประถมในสมัยก่อนเรื่อง “แม่ปูกับลูกปู” ได้เป็นอย่างดี และชี้ให้เห็นว่า สถาบันทางวิชาการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแสวงหาทางออกเพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทยนั้น ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะการจัดระบบถกเถียง ถกแถลงในชั้นเรียน จนทำให้นักศึกษาต้องออกมาแสดงออกในที่สาธารณะ
จนในที่สุดจะต้องถูกดำเนินคดีในความผิดอาญาต่อแผ่นดิน หลายข้อหา หลายกระทง ส่วนคณาจารย์เหล่านี้หาได้ทุกข์ร้อนมาร่วมติดคุก ติดตะรางด้วยไม่ แต่กลับนั่งตีขิมรับบำเหน็จบำนาญ รับค่าตอบแทนทางวิชาการไปวันๆ เท่านั้น หรือบางรายถ้าขยันหน่อยก็จะนำข้อขัดแย้งดังกล่าวไปเขียนวิจัยขอตำแหน่งทางวิชาการเพิ่ม เพื่อขอค่าตอบแทนจากภาษีของประชาชนให้มากขึ้น
“จงจำไว้ว่า รัฐธรรมนูญทุกยุคทุกสมัยมักบัญญัติถ้อยคำเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ถ้าอ่านแค่นี้ยังไม่เข้าใจก็ไม่ควรให้ใครมาเรียกตนว่าอาจารย์อีกต่อไป แต่ควรจะให้เรียกว่า “อาจม” จึงจะถูกกับสภาวะวิสัยในขณะนี้”
และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายเตชะ ทับทอง กลุ่มหนึ่งร้อยตัวแทนทำดีเพื่อพ่อ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “105 อาจารย์ที่แถลงการณ์ ใครมีเครื่องราชย์บ้างนะ ถวายคืนเจ้านายท่านเถอะ อย่าหน้าด้าน อย่าเอาแต่ได้”
แน่นอน, นี่คือ ภาพสะท้อนของเครือข่ายนักวิชาการ ที่มีอุดมการณ์ปฏิรูป หรือปฏิวัติสถาบันในประเทศไทย และหัวหอกในวันนี้ก็คือ 105 คน จากทั้งหมดอาจมากกว่านี้
เสียดาย, ไม่ใช่ว่า สิ่งที่ ดร.สุวินัย และผู้มีคุณวุฒิในสถาบันทิศทางไทยอธิบาย พวกเขาไม่เข้าใจ หรือแม้แต่ตัวบทกฎหมายที่ “พี่ศรี” หยิบยกมา เขาไม่มีความรู้ เพียงแต่ว่า เขามีชุดความคิดของตัวเอง ที่จะมองข้ามความปกติวิสัยที่คนธรรมดา วิญญูชนควรรับรู้ ไปสู่วิญญาณนักต่อสู้ ที่ไม่รู้ “ร้อนวิชา” อย่างที่ อ.สุวินัย ว่าหรือไม่ แต่มันคือ ยุทธศาสตร์ใหญ่ ที่ไม่จำเป็นต้องสนใจ “ยุทธวิธี”
สังเกตหรือไม่ ไม่แต่เฉพาะนักวิชาการกลุ่มนี้เท่านั้น นักการเมือง นักเคลื่อนไหว ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เขาก็พยายามบิดเบือน เพื่อให้ชุดความคิดของเขาเป็นกระแสในสาธารณชน โดยไม่สนใจว่า จะถูกหรือผิด หรือไม่อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้น คนเหล่านี้คงไม่ทำผิดกฎหมายมากมาย
แต่อย่างน้อย ข้อดีที่คนกลุ่มนี้เปิดตัวออกมา ก็จะทำให้รู้ว่า ขบวนการทั้งหมด นอกจากกลุ่มคนลี้ภัยคดี ม.112 ที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ นักการเมือง นักเคลื่อนไหวในไทยแล้ว
ยังมีกลุ่มนักวิชาการ 105 คน ที่หนุนหลัง “ม็อบเยาวชนปลดแอก” ที่เวลานี้ยกระดับเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” เรียบร้อย รวมทั้งชื่อเสียงเรียงนามก็มีไว้ให้เสร็จสรรพ ถือว่า ทุกคนที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าฝ่ายใด ออกมาอยู่ในที่สว่างกันหมดแล้ว อาจทำให้ง่ายต่อการหาทางออกของปัญหา มากกว่า ปิดตัวซ่อนแอบอยู่ในที่ลับ เหมือนที่ผ่านมา หรือไม่จริง!?