กมธ.กฎหมาย ชงนิรโทษกรรม ปลดล็อกขัดแย้ง บี้รัฐบาล เร่งแก้ รธน.ยุติสืบทอดอำนาจ ให้กองทัพปฏิญาณตนไม่ทำรัฐประหาร
วันนี้ (12 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพรุ่งนี้ (13 ส.ค.) มีวาระสำคัญการประชุม คือ รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ” ตามที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการเสนอแนวทางสร้างความปรองดองและสมานฉันท์คนในชาติ เพื่อขจัดความขัดแย้งในสังคม โดยมีการเสนอแนวทางการนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความปรองดอง มีเงื่อนไขคือ การนิรโทษกรรมเหตุ การณ์ความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน โดยเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้นคือ การกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ทำไปเพื่อแสดงออกถึงความคิดทางการเมือง หรือมีเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมถึงการทำผิดคดีอาญา ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยเสนอให้ตราเป็นกฎหมายพิเศษ เช่น การออก พ.ร.ก. หรือการออก พ.ร.บ.
ขณะเดียวกัน กมธ.ยังเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกออกแบบวางกติกาไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจ โดยเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้นายกรัฐมนตรีระบุรายละเอียดเรื่องกรอบเวลาของกระบวนการแก้ไขให้ชัดเจน เมื่อแก้ไขเสร็จ ควรยุบสภาทันทีแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ หากปล่อยเวลาให้นานไปเท่าใด การแก้ปัญหาความขัดแย้งจะเป็นไปได้ยาก ขณะที่เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อ เสนอให้สื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่นำเสนอข้อมูลหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง ยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงต่อคู่ขัดแย้ง ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น รัฐบาลต้องเยียวยาอย่างจริงจัง เป็นระบบ ทั่วถึงและต่อเนื่อง ครอบคลุมความเสียหายทางร่างกายและจิตใจ และชดเชยให้กลับคืนสู่สภาเดิมมากที่สุด โดยไม่จำกัดการเยียวยาด้วยตัวเงินเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความขัดแย้งทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน พรรคการเมือง ผู้นำชุมนุม ฝ่ายความมั่นคง สื่อมวลชน ขอโทษต่อสาธารณชน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศในช่วงสถานการณ์รุนแรง หรือนายกฯที่บริหารประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรแสดงความรับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะผู้นำรัฐบาล เนื่องจากรัฐมีความบกพร่อง ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการบริหารความขัดแย้งทางการเมืองให้ดำเนินไปตามครรลองสันติวิธี
นอกจากนี้ กมธ.ยังเสนอถึงกรทำหน้าที่ของกองทัพควรทำภารกิจของกองทัพ งดเว้นการทำรัฐประหาร หรือแทรกแซงทางการเมือง เช่น การใช้อิทธิพลกดดันนโยบายรัฐบาล การข่มขู่ใช้กำลังหรือยึดอำนาจ กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องปลูกฝังจิตสำนึกทหารให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ในการถวายสัตย์ปฏิญาณของเหล่าทัพควรกำหนดว่า จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร รวมถึงยังมีข้อเสนอไปยังผู้นำการชุมนุม ว่า แม้เสรีภาพการชุมชุมจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย แต่การใช้สิทธิเสรีภาพใช่ว่าจะทำได้ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด การชุมนุมจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือ โดยสงบ ปราศจากอาวุธ