xs
xsm
sm
md
lg

"ไพบูลย์" ซัดรายงานปรองดอง มีแต่วาทกรรมหวั่นขัดแย้ง "โรม" ฉะส.ว.เลิกนำไปสู่การนองเลือด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (แฟ้มภาพ)
ประชุมสภาถกข้อเสนอนิรโทษฯจุดปรองดอง "ไพบูลย์" อัดเนื้อหามีแต่วาทกรรมห่วงยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง "เทพไท" เสนอให้ครอบคลุมมาตรา112 "โรม" จวกส.ว.เลิกปลุกบรรยากาศนองเลือด ชี้ม.112 ใช้รังแกเห็นต่างทางการเมือง

วันนี้ (13ส.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณารายงาน “แนวทางการสร้างความปรองดอง สมาน ฉันท์ของคนในชาติ” ตามที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เสนอมา มีสาระสำคัญคือ การเสนอแนวทางสร้างความปรองดอง โดยการให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือแก้ไขรัฐธรรม นูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่มีการสืบทอดอำนาจ และการเสนอนิรโทษกรรมเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี2548-ปัจจุบัน เฉพาะคดีที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมือง ไม่รวมคดีอาญา ความผิดตามมาตรา112 และคดีทุจริต โดยเสนอให้ออกเป็นพ.ร.ก.หรือร่างพ.ร.บ. ตลอดจนการเสนอให้กองทัพวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช้อิทธิพลกดดันนโยบายรัฐบาล ซึ่งส.ส.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับดังกล่าว อาทิ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่ารายงานเล่มนี้แทบไม่มีประโยชน์ ตราบใดที่ฝ่ายบริหาร กองทัพ ยังไม่เข้าใจต้นเหตุปัญหา แบ่งประชาชนเป็นคนชังชาติกับคนรักชาติ โดยเฉพาะผบ.ทบ.ควรทบทวนตัวเอง เรื่องวุฒิภาวะที่พูดเหน็บแนมประชาชน สะท้อนจิตสำนึกที่ต้องปรับปรุง ผู้มีอำนาจควรหยุดยัดเยียดความเกลียดชังให้เกิดความแตกแยกไปมากกว่านี้

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ไม่สามารถรับรายงานฉบับนี้ได้ เพราะเนื้อหามีแต่วาทกรรม ทั้งในส่วนข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญที่ระบุเป็นการสืบทอดอำนาจ ทั้งที่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สร้างความขัดแย้งมาตลอด ไม่ใช่สร้างความปรองดอง ขณะที่ข้อเสนอการนิรโทษกรรมนั้น จากเหตุการณ์ชุมนุมขณะนี้ ถ้าให้นิรโทษกรรม จะสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ จะมีคนไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้คนที่ไปกล่าวอะไรไม่เหมาะสม จะยิ่งสร้างความแตกแยก ส่วนข้อสังเกตต่อกองทัพในรายงานฉบับนี้ เป็นการมองกองทัพอย่าอคติ จงเกลียดจงชัง โดยเฉพาะการให้กองทัพถวายสัตย์ปฏิญาณตนจะไม่ทำรัฐประหารนั้น เท่ากับผลักกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รายงานฉบับนี้ครอบคลุมการสร้างความปรองดอง โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี2548-ปัจจุบันนั้น แต่อยากให้ครอบคลุมถึงความผิดมาตรา112 ด้วย เพราะไม่กี่วันที่ผ่านมาท่าทีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่มีต่อมาตรา112 ให้สัมภาษณ์สื่อหลายฉบับว่า ในหลวงทรงมีพระเมตตา ไม่ให้ใช้มาตรา112 แสดงให้เห็นเจตนาว่า ไม่อยากให้ใช้มาตรา112 พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า วันนี้มาตรา112 ไม่มีการใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ ดังนั้นเมื่อไม่มีการใช้มาตรา112 อีกต่อไป คนที่ทำผิดมาตรานี้ที่ผ่านมา ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่นิรโทษกรรมให้ด้วย อยากให้เพิ่มการนิรโทษกรรมให้ผู้ทำผิดมาตรา112ด้วย

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ต้องยอมรับความจริงว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศความปรองดอง มีหลายมาตราเป็นการสืบทอดอำนาจให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมลดราวาศอก ไม่ยอมรับให้มีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยคงเป็นเรื่องยากจะเกิดการปรองดองกันได้ เงื่อนไขหนึ่งคือ การทำลายส.ว.ที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อยากให้สมาชิกฝ่ายรัฐบาลกดปุ่มปิดสวิตซ์ส.ว.ให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน เรายังไม่รู้ว่าจะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ผ่านมาการที่ส.ว.ออกมาขู่การชุมนุมของนักศึกษาว่า จาบจ้วงสถาบัน อาจนำไปสู่การนองเลือดนั้น เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ท่านไม่พูดเรื่องนี้จะดีกว่า มีแต่จะสร้างบรรยากาศความกลัว ความขัดแย้งใหม่ โอกาสไปสู่ความปรองดองจะเป็นเรื่องยาก รากของปัญหานี้อยู่ตรงไหนทุกคนรู้ดี ไม่สบายใจที่สมาชิกรัฐบาลหลับตาข้างเดียวไม่รู้ร้อนรู้หนาว สร้างอุณหภูมิให้ร้อนแรงขึ้น ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรรับฟังความจริงนี้ ไม่ใช่ผลักอนาคตชาติไปเป็นศัตรู รู้มาว่ารัฐบาลจะไม่เห็นชอบรายงานเล่มนี้ อยากให้เปิดตารับความจริงอันกระอักกระอ่วนนี้ โดยที่อยากให้เพื่อนสมาชิกทุกคนมาช่วยกัน

"เพื่อประโยชน์เราจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ และยุบส.ว. 250 คน ส่วนการนิรโทษกรรมสำหรับคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง รายงานเล่มนี้เลือกที่จะยกเว้นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งต้องยอมรับว่าคนเห็นต่างจำนวนมากถูกดำเนินคดีมาตรานี้ การระบุเช่นนี้จึงไม่สามารถสร้างบรรยากาศความปรองดองได้ จึงไม่ควรระบุในรายงานว่า ให้ยกเว้นกฎหมายอะไร เพราะมาตา 112 เป็นมาตราหนึ่งที่เอาไว้รังแกคนเห็นต่างทางการเมือง เหมือนกฎหมายอีกหลายฉบับ" นายรังสิมันต์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น