xs
xsm
sm
md
lg

มือรับโอนหุ้นชินคอร์ปรอด! ศาล ปค.สูงสุด ชี้ ป.ป.ช.ไร้หลักฐานได้รับประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิชัย จึงรักเกียรติ (แฟ้มภาพ)
ศาล ปค.สูงสุด พิพากษายืนเพิกถอนคำสั่งปลด มือรับโอนหุ้นชินคอร์ป ชี้ ป.ป.ช.ไร้หลักฐานได้รับประโยชน์แลกงดเว้นคำนวณภาษี “พจมาน ที่โอนหุ้น 738 ล.ให้ บรรณพจน์ สั่งให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 29 ธ.ค. 49 เร่งคืนสิทธิประโยชน์โดยเร็ว

วันนี้ (6 ส.ค.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ลดโทษ นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร จากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ จากกรณีนายวิชัย งดเว้นการคำนวณภาษีกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการโอนหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน เมื่อปี 2540 แต่มีคำพิพากษาแก้คำสั่งศาลปกครองกลางในส่วนระยะเวลาที่ให้คำสั่งเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่มีคำสั่งคือวันที่ 12 พ.ค. 51 เป็นให้คำพิพากษาเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 49 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการมีผลบังคับ และให้มีการคืนสิทธิประโยชน์ที่นายวิชัยพึงมีพึงตามกฎหมายโดยเร็ว

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลดโทษนายวิชัยจากไล่ออกเป็นปลดอกจากราชการ ระบุว่า มติชี้มูลความผิดทางวินัย นายวิชัย ของ ป.ป.ช. เป็นเพียงการใช้อำนาจทางปกครอง ตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญอันเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 223 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 50 เมื่อคดีนี้ นายวิชัย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง

ส่วนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค. 51 เรื่องลดโทษข้าราชการเฉพาะส่วนที่ลดโทษนายวิชัยจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจการไต่สวนและวินิจฉัยของ ป.ป.ช.หมายถึงเฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่การงานที่ทำเท่านั้น นอกจาก 3 กรณีดังกล่าวนี้ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิด ดังนั้น การที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยในความผิดฐานอื่น นอกเหนือจากการทุจริตต่อหน้าที่ จึงไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และความเห็นของ ป.ป.ช.มาเป็นสำนวน สอบสวนทางวินัย ของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่งของ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. 2542

นอกจากนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมสรรพากรกระทรวงการคลัง 2540 สำนักกฎหมายที่ นายวิชัย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ เรียกเก็บภาษีอากร แต่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการวินิจฉัยตีความกฎหมายประกาศคำสั่งและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งจากข้อเท็จจริง จากข้อเท็จจริงเห็นได้ว่าการรับโอนหุ้นของนายบรรณพจน์ สำนักตรวจสอบภาษีได้ดำเนินการตรวจสอบและมีความเห็นอยู่ก่อนแล้วว่าเป็นกรณีการรับหุ้นจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 2(10) แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร ซึ่งในการพิจารณาตอบข้อหารือของสำนักกฎหมายก็ได้พิจารณาให้ความเห็นโดยอ้างอิงในความเห็นของกรมสรรพากรและคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีข้อเท็จจริงและความเห็นใกล้เคียงกับความเห็นของสำนักตรวจสอบภาษี เมื่อ ป.ป.ชไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการให้ความเห็นในกรณีนี้ นายวิชัยมีเจตนาเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้จึงไม่อาจถือว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ

สำหรับการที่ นายบรรณพจน์ ดำเนินการรับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน และหรือ พันตำรวจโท ทักษิณ ผ่านระบบซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จะถือเป็นการโอนหลักทรัพย์โดยอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องรับผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามความเห็นของ ป.ป.ช.หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องแยกพิจารณาภาระภาษีที่ผู้มีเงินได้พึงประเมินจะต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดในสำนวนคดีนี้ที่พิสูจน์ได้ว่า นายวิชัย ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว หรือปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ ที่ทำให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหายกรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าพฤติการณ์ของนายวิชัย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรค 3 มาตรา 15 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรค 2 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2535 ตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด การที่ปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งกระทรวงคลัง ที่ 1214/2549 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 49 ลงโทษไล่นายวิชัย ออกจากราชการ และต่อมาได้มีคำสั่งกระทรวงคลังที่ 658/2651 ลงวันที่ 12 ธ.ค. 51 ลดโทษนายวิชัยจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ ตามมติคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น