คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ผลตรวจสอบคดี “บอส อยู่วิทยา” ของอัยการ บางเรื่องดี แต่คณะกรรมการฯ สางคดีชุด “วิชา” ไม่เชื่อผลสอบสวนของใครทันที เพราะมีหน้าที่ตรวจสอบความจริง อธิบายให้สังคมกระจ่าง
วันนี้ (5 ส.ค.) เมื่อเวลา 12.05 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายมุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ถึงกรณีที่อัยการแถลงเมื่อวันที่ 4 ส.ค.จะมีผลใดต่อการหารือของที่ประชุมคณะกรรมการฯ หรือไม่ว่า ไม่มีผลอะไร เราทำงานของเราไป ข้อมูลที่อัยการแถลงข่าวมานั้นเรานำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาส่วนหนึ่งด้วยอยู่แล้ว บางประเด็นที่อัยการไม่พบสิ่งผิดปกติก็จะเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องช่วยในส่วนนั้นด้วยเพื่อช่วยอัยการหาว่ากระบวนการทำงานไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตำรวจ หรืออัยการ มีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการแถลงของอัยการ เหมือนโยนความบกพร่องให้ตำรวจว่าทำสำนวนมาไม่ดี ไม่รอบคอบ นายมุนินทร์กล่าวว่า เป็นปกติเพราะสองหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานหลักในการทำคดี คณะกรรมการชุดนี้ต้องเข้าไปตรวจสอบการทำงานของทั้งตำรวจ และอัยการว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่
เมื่อถามว่า ในที่ประชุมมีการพูดคุยถึงประเด็นการทำงานของอัยการบ้างหรือไม่ นายมุนินทร์กล่าวว่า ไม่ได้คุยกันเยอะมาก คิดว่าเราก็รับฟังแค่ส่วนหนึ่ง เราไม่ได้เชื่อผลการสอบสวนของใคร เพราะเรามีหน้าที่ต้องสอบหาความจริง ในส่วนของเราเองจึงต้องดูทุกสำนวน หลักฐานทั้งหมด และใช้ดุลพินิจของเราว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ขั้นตอนตามกฎหมายต่างๆ เกี่ยวข้องอย่างไร ชอบหรือไม่โปร่งใสหรือไม่ สุจริตหรือไม่ เมื่อถามว่าจะต้องเชิญใครมาชี้แจงบ้าง นายมุนินทร์กล่าวว่า โดยหลักก็ต้องเชิญทุกคนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงความคิดเห็นส่วนตัว มองการแถลงข่าวของอัยการอย่างไรบ้าง นายมุนินทร์กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าข่าวดีของคดีนี้ คือ อย่างน้อยที่สุดก็มีทางออก ทั้งเรื่องพยานหลักฐานใหม่ เรื่องการพบสารเสพติด ซึ่งอาจจะเป็นคดีแยกออกมาต่างหาก อีกอย่างหนึ่งคือ สื่อมวลชน และนักกฎหมาย ได้สะท้อนเรื่องการทำงานของอัยการที่ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ในส่วนนี้อาจจะเป็นเพราะมีเวลาทำงานน้อย คิดในแง่ดีคณะกรรมการชุดนี้ว่าอาจจะช่วยอัยการในการเข้าไปดูว่ามีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าคนที่เกี่ยวข้องก็เป็นอัยการ เป็นอัยการสูงสุด และคนที่เข้าไปตรวจสอบก็เป็นอธิบดีอัยการ ซึ่งเป็นอัยการชั้นอาวุโสที่น้อยลงมา แต่ตนเชื่อว่าท่านจะทำงานเป็นอิสระ แต่อย่างที่บอกคืออาจจะมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาและข้อมูล ดังนั้น คณะกรรมการชุดนี้อาจช่วยให้การทำงานได้อย่างรอบด้านมากขึ้น
เมื่อถามว่า หากสำนวนของตำรวจที่ส่งให้อัยการอ่อนไป อัยการมีอำนาจเรียกสอบเพิ่มได้หรือไม่ นายมุนินทร์กล่าวว่า ใช่ อัยการมีอำนาจในการสอบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อถามย้ำว่า ในกรณีนี้ทำไมอัยการจึงไม่เรียกเพิ่ม นายมุนินทร์กล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ ต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งเรื่องอัยการ และสำนวนของตำรวจ ต้องดูให้หมด ส่วนข้อพิรุธที่สังคมยังคลางแคลงใจ เราจะต้องนำไปดูให้หมดและอธิบายให้สังคมได้รู้