เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย บุกสำนักงาน ป.ป.ช. ยื่นคำร้องให้ดำเนินการไต่สวนและสอบสวนกรณีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง “วรยุทธ อยู่วิทยา” ในทุกข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนได้ทำเรื่องขออนุมัติศาลเพิกถอนหมายจับในคดีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ
วันนี้ (3 ส.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้อง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้ดำเนินการไต่สวนและสอบสวน กรณีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ในทุกข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนได้ทำเรื่องขออนุมัติศาลเพิกถอนหมายจับในคดีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ โดยกรณีดังกล่าวแม้ฝ่ายอัยการจะพยายามชี้แจงว่าเป็นไปตามเกณฑ์ปกติของการพิจารณาสั่งคดีอาญาของพนักงานอัยการอยู่แล้ว แต่คำชี้แจงดังกล่าวเป็นการปัดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายอัยการ ไปให้ฝ่ายตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบในการทำสำนวนคดีทั้งๆ ที่ตามอำนาจหน้าที่ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของอัยการ 2547 อัยการมีอำนาจในการตรวจสอบสำนวนคดี และหากพบข้อพิรุธใดๆ ในสำนวนคดีก็มีอำนาจที่จะย้อนสำนวนให้ฝ่ายตำรวจได้ชี้แจงหรือสอบสวน หรือหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งและข้อสงสัยกันของสังคม เช่น อัตราความเร็วของรถยนต์คันเกิดเหตุได้ 177 กม./ชม. ซึ่งแต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ดังกล่าวให้การว่าตามที่คำนวณไว้เดิมเป็นการคำนวณผิดที่ถูกต้อง คือ อัตราความเร็วของรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุอยู่ที่ 79 กม./ชม. อัยการมองไม่เห็นความผิดปกติของสำนวนเลยหรืออย่างไร
นอกจากนั้น ยังมีกรณีมหาวิทยาลัยมหิดลแจ้งพนักงานสอบสวนว่าตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของผู้ต้องหา แต่กลับไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานดังกล่าวในสำนวนการสอบสวนแต่อย่างใด ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวมีการนำเสนอของสื่อมวลชนมาตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อปี 2555 แล้ว แต่อัยการกลับอ้างว่า ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานดังกล่าวในสำนวนการสอบสวนแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาฐานเสพยาเสพติดแต่อย่างใด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของอัยการผู้สั่งคดีโดยชัดแจ้ง ที่หมายถึงฝ่ายตำรวจเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าวด้วย ที่เลวร้ายไปกันใหญ่เมื่อฝ่ายตำรวจอ้างว่า ได้รับการยืนยันจากหมอฟันว่าสารที่ตรวจพบในร่างกายนายวรยุทธเป็นยาที่ให้ผู้ต้องหาในการรักษาฟันที่มีส่วนผสมของสารโคเคนอยู่ ทำให้ไม่สั่งฟ้องเรื่องสารเสพติด ซึ่งทำให้หมอฟันต้องออกมาชี้แจงว่าประเทศไทยไม่มีการใช้โคเคนในทางทันตกรรมมามากกว่า 100-150 ปีแล้ว แต่ตำรวจกลับไปนำเรื่องการทำฟันมาเฉไฉเพื่อกลบเกลื่อนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในตัวผู้ต้องหาเสียสิ้น สุดท้ายพอสังคมจับได้กลับอ้างว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเสียอย่างน่าละอาย
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำคำร้องมายื่นต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่า การที่ตำรวจดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีในลักษณะมีพิรุธ และอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี กรณี นายวรยุทธ ขับขี่รถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พรป.ป.ป.ช.2561 ประกอบพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 ม.78(9) และ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 ม.19 วรรคสอง ประกอบ ม.21 หรือไม่ด้วย