MGR Online - กก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ตร. เผย เร่งตรวจสอบสารที่พบในร่างกาย “บอส กระทิงแดง” เกิดจากการเสพโคเคนหรือไม่ ก่อนเสนอ ผบ.ตร.สั่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่ม
วันนี้ (31 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.
ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง กรณีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555 พร้อมด้วย พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.กมค. และ พล.ต.ท.กฤษณะ ทรัพย์เดช จตร. ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการสอบสวน ว่า คณะกรรมการชุดนี้ยังยึดถือกรอบในการดำเนินการ โดยจะเข้าไปตรวจสอบในกรอบแรกพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการ กระทั่งมีการเสนอความเห็นสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการ ในข้อหาขับรถโดยประมาท กรอบที่ 2 พิจารณาเรื่องพนักงานสอบสวนมีการสอบเพิ่มเติมตามคำสั่งของพนักงานอัยการ และกรอบสุดท้ายในกรณีความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.มีความเห็นไม่แย้งกับคำสั่งของอัยการ ในส่วนที่คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการได้ลงลึกในรายละเอียด และยังมีบางส่วนกำลังดำเนินการ ซึ่งบางเรื่องสามารถจะพอแถลงชี้แจงให้กับสังคมรับทราบและจะได้เข้าใจ ว่า แนวทางดำเนินการของพนักงานสอบสวนเป็นอย่างไร
พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาในส่วนของตำรวจเท่านั้น ว่า มีการดำเนินการถูกต้องเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ กรณีแรกที่ขอชี้แจง คือ กรณีการพบสารที่เกี่ยวกับโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ ขอเรียนว่ากรณีนี้มีการตรวจเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2555 ผลการตรวจออกมาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2555 แพทย์ผู้ตรวจยืนยันว่าสารที่ตรวจพบเกิดจากกระบวนการสลายตัวของสารที่เกี่ยวกับโคเคนอีนกับแอลกอฮอล์ โดยไม่มีการพบโคเคนโดยตรง
พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า ตามรายงานจากภาคนิติวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า สารที่ตรวจพบทั้งหมดมี 4 ชนิด คือ 1. Alprazolam 2. Benzoylecgonine 3. Cocaethylene 4. Caffeine โดยสาร Alprazolam เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือทางการแพทย์เรียกว่ายานอนหลับ ส่วนตัวที่ ส่วน Caffeine คือ สารที่อยู่ในกาแฟอย่างที่รู้กัน คือ สาร Benzoylecgonine และ Cocaethylene ซึ่งเป็นผลของการย่อยสลาย ที่ทางการแพทย์บอกว่ามาจากโคเคน แต่ไม่ใช่โคเคนโดยตรง ซึ่งสาร Benzoylecgonine ในทางการแพทย์ยืนยันว่าเป็นสารที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อเสพโคเคนอีน จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ส่วนสาร Cocaethylene ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่เป็นเมตาบอไลต์ที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อเสพโคเคนอีนร่วมกับแอลกอฮอล์
“ดังนั้น ประเด็นคือ สาร Benzoylecgonine และ Cocaethylene ถ้ามีการตรวจพบสารตัวนี้แสดงว่ามีการเสพโคเคนอีน แต่จากการให้การของนายวรยุทธ บอกว่า ได้มีการไปหาหมอฟัน และหมอมีการให้ยา ซึ่งเป็นยาอะม็อกซีซิลลีน 500 มิลลิกรัม และทางแพทย์ได้ให้การยืนยันในคำให้การชัดเจนไม่มียาเสพติด ดังนั้นตามที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ยืนยันว่ายาที่แพทย์ให้นายวรยุทธไม่มีสารเสพติด ส่วนสารสาร Benzoylecgonine และ Cocaethylene อาจจะมาได้จากยาปฏิชีวนะอื่นหรือไม่ หรือจะมาจากการเสพโคเคนอย่างเดียว กรณีนี้ทางคณะกรรมการชุดนี้ จะดำเนินการเพื่อให้ทราบว่ากรณีดังกล่าวมีความเท็จจริงอย่างไร แต่เนื่องจากทางคณะกรรมการไม่มีความชำนาญในเรื่องนี้ จึงต้องขอเวลาในการสอบถามจากผู้รู้ จะประสานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการประมวลของคณะกรรมการ ส่วนกรณีหากพบว่ามีหลักฐานชัดเจน ว่า สารดังกล่าวเป็นยาเสพติดจริง ก็เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการ คดียาเสพติดประเภท 2 มีอายุความ 10 ปี ซึ่งคณะกรรมการจะเสนอ ผบ.ตร.ให้สั่งการต่อไป” พล.ต.อ.ศตวรรษ ระบุ
ส่วนกรณี นายจารุชาติ มาดทอง ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า กรณีไม่มีผลต่อการดำเนินการของคณะกรรมการชุดนี้อย่างแน่นอน แต่จะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง แต่ที่เป็นประเด็นของเรา คือ พยานที่ชื่อนายจารุชาติ มาอย่างไร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า นายจารุชาติ ได้เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 2555 ดังนั้น นายจารุชาติ ไม่ใช่พยานใหม่ เป็นพยานที่อยู่ในสำนวนการสอบสวนตั้งแต่เบื้องต้น เป็นพยานที่เข้าพบพนักงานสอบสวนหลังทราบข่าว จึงมาให้การว่าเห็นเหตุการณ์อย่างไร ส่วนกรณีของ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร มีการสอบปากคำครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2558 หลังพนักงานสอบสวนเสนอสั่งฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาท และมีการออกหมายจับไปแล้ว ซึ่งการเข้าให้การของนายจารุชาติ ไม่ได้มีการพูดถึงกรณีความเร็วของรถยนต์ และพยานทั้ง 2 คน อยู่ในรถยนต์คนละคัน ส่วนทั้ง 2 คน จะรู้จักกันหรือไม่ยังไม่ทราบ กรณีที่นายจารุชาติ ให้การเรื่องความเร็วรถยนต์อยู่ที่ 70 กม.ต่อชั่วโมง เป็นการให้ปากคำเมื่อช่วงปลายปี 2562 ซึ่งเป็นการให้สอบปากคำเพิ่มเติมของทางพนักงานอัยการนายจารุชาติ ให้ปากคำในครั้งแรกไม่ได้บอกเรื่องความเร็วของรถยนต์ และการให้ปากคำครั้งที่ 2 ได้ให้ปากคำเรื่องความเร็ว
พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า ในชั้นนั้นพนักงานสอบสวนใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องผู้ต้องหา ในข้อหาขับรถโดยประมาท และมีการออกหมายจับไปแล้ว ก่อนที่จะมีคำสั่งจากอัยการให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติม ซึ่งพนักงานสอบสวนคำนึงถึงความระมัดระวังของการขับรถ ต้องมีการเว้นระยะ ทิศทางของรถ แต่พนักงานสอบสวนชุดแรกสั่งไม่ฟ้องเรื่องขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด เนื่องจากในชั้นแรกมีพยานบางปากบอกว่ารถยนต์ใช้ความเร็วไม่น่าเกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง จึงเป็นเหตุไม่ฟ้องเรื่องความเร็วแต่สั่งฟ้องเรื่องขับรถโดยประมาท เพราะการขับโดยไม่ระมัดระวังก็เป็นเหตุของความประมาท ซึ่งเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนยึดเรื่องความระมัดระวังในการขับรถ จึงมีการสั่งฟ้องในเบื้องต้น ส่วนกรณีการขับรถเปลี่ยนช่องทางของ ด.ต.วิเชียร ยืนยันว่ามีการขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางจากซ้ายไปขวาแน่นอน มีคำให้การอย่างชัดเจน สำหรับกรอบระยะเวลา 15 วันที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ให้มา ทางคณะกรรมการพยายามเร่งดำเนินการทุกวัน
ด้าน พล.ต.ท.สมชาย กล่าวว่า ในชั้นแรกพนักงานสอบสวนได้ใช้พยานหลักฐานจากกองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งแจ้งมาเป็นรายงานชันเจนในเบื้องต้นว่า รถยนต์คันก่อเหตุใช้ความเร็วประมาณ 177 กม.ต่อชั่วโมง จึงใช้พยานหลักฐานตัวนั้นในการแจ้งข้อกล่าวหาในข้อหาขับรถเร็ว และต่อมาในชั้นสอบสวนยังได้มีการสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดบก.จร.เกี่ยวกับลักษณะสภาพรถอีก 2 ปาก เพื่อประเมินว่าความเร็วเป็นจริงตามที่ได้รับรายงานหรือไม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องเรื่องความเร็ว แต่พนักงานอัยการสั่งฟ้องเรื่องความเร็ว ดังนั้นกรณีที่ไม่สอบปากคำนายจารุชาติ ในชั้นนั้น เพราะพนักงานสอบสวนเชื่อในผลการรายงานของกองพิสูจน์หลักฐาน การณีข้อหาขับรถโดยประมาท มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น เร็วก็ประมาท ดื่มสุราก็ประมาทได้ หรือไม่เร็วไม่ดื่มสุรา แต่ปราศจากความระมัดระวังก็เป็นความประมาทได้ กรณีที่ นายวรยุทธ ไปรักษากับแพทย์เกี่ยวกับเรื่องฟัน ทางแพทย์ให้การยืนยันชัดเจนว่ายาที่ให้ไปไม่มีสารเสพติด เป็นยาอะม็อกซีซิลลิน 500 มิลลิกรัม แต่ยาอะม็อกซีซิลลิน เป็นยาปฏิชีวนะ ซึ่งแพทย์มีความเห็นว่าผลของยา อาจก่อให้เกิดผลลวงในการตรวจเลือดได้
สำหรับกรณีที่ถามว่า พนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีกกี่ปากให้ส่งสำนวนให้อัยการ เท่าที่ทราบจากข้อมูลมีการสั่งให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติมต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนตามที่พนักงานอัยการสั่ง มีการสอบเพิ่มเติมกี่ครั้ง พยานกี่ปาก ซึ่งประเด็นนี้อยู่ระหว่างนัดสอบปากคำพนักงานสอบสวนในคดี