ทันตแพทย์หนุ่ม เจ้าของเพจ “ใกล้หมอฟัน” ยันอีกเสียง ปัจจุบันวงการหมอฟันเลิกใช้โคเคนในการรักษาผู้ป่วยนานแล้ว เนื่องจากหวั่นว่าจะเป็นพิษและมีฤทธิ์เสพติด ซึ่งปัจจุบันใช้สารที่พัฒนาจากโคเคน ที่มีความปลอดภัย หรือมีพิษน้อยกว่า
จากกรณีที่ตำรวจชี้แจงกรณีไม่แย้งคำสั่งอัยการที่ไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ว่า พนักงานสอบสวนให้ข้อมูลว่า ได้รับการยืนยันจากหมอฟัน ว่า สารที่ตรวจพบในร่างกายนายวรยุทธเป็นยาที่ให้ผู้ต้องหาในการรักษาฟันที่มีส่วนผสมของสารโคเคนอยู่ ทำให้ไม่สั่งฟ้องเรื่องสารเสพติด
ทำให้มีเพจหมอฟันจำนวนมากออกมายืนยันว่า ปัจจุบันไม่มีการใช้สารเสพติดโคเคนในการรักษาผู้ป่วยแล้ว แต่ยอมรับว่าเคยใช้ โคเคน เป็นยาชาเมื่อประมาณกว่า 150 ปี ก่อน ส่วนยาชาที่ใช้ในปัจจุบัน “ลิโดเคน” งานวิจัยชี้ชัด ผลตรวจไม่มีทางหลอกว่าเป็นโคเคนได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 ก.ค. เพจ “ใกล้หมอฟัน” ของ “ทันตแพทย์ กฤษณะ พลอยบุษย์” ได้ออกมาโพสต์ข้อความยืนยันอีกหนึ่งเสียงว่า ปัจจุบันทางทันตกรรมปัจจุบันเราไม่ใช้โคเคนแล้ว โดยได้ระบุข้อความว่า
“มีการใช้โคเคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เพื่อใช้ระงับอาการปวดจากการทำฟันตัวแรกๆ แต่โคเคนได้เสื่อมความนิยมลง เพราะขนาดที่ใช้รักษาใกล้เคียงกับขนาดที่เป็นพิษและฤทธิ์เสพติด ซี่งไม่มีการใช้แล้วในปัจจุบันสำหรับใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ในงานทันตกรรม
การรักษาทางทันตกรรมโดยเฉพาะการใช้ยาชาเฉพาะที่ ในปัจจุบันจะใช้สารที่พัฒนาจากโคเคน ที่มีความปลอดภัย หรือมีพิษน้อยกว่า เช่น ลิโดเคน เมพิวาเคน อะทิเคน ซึ่งยาชาที่เราฉีด จะไม่ฉีดเข้าเส้นเลือด แต่จะฉีดเพื่อให้ยาซึมซับระงับอาการเจ็บปวดบริเวณฟัน หรือเส้นประสาทตรงบริเวณนั้น”
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่า พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา ได้เผยว่า ขณะนี้ ทางตำรวจยังไม่มีการเปิดเผยว่าทันตแพทย์รายใดเป็นผู้รักษาในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก และโดยปกติทันตแพทย์ จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย เนื่องจากเป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ ยกเว้นเป็นคดีความเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์ในการเรียกข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ และทางทันตแพทยสภา พร้อมให้ข้อมูล และอยากขอข้อมูลจากตำรวจเพื่อช่วยตรวจสอบทันตแพทย์ที่ให้การรักษานาย บอส อยู่วิทยา ด้วยเช่นกัน หรือ หากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาก็พร้อมตรวจสอบ ปัจจุบัน พ.ร.บ.ยาเสพติด มีการอนุญาตให้ใช้สารเสพติดบางชนิด ในทางการแพทย์ได้ เช่น มอร์ฟีน, โคเคน แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ของแพทย์ และ กฎหมาย เพราะ มีกลุ่มคนบางกลุ่ม ลักลอบใช้เป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม