เพจทันตแพทย์ชื่อดัง แจง “โคเคน” เคยใช้เป็นยาชาเมื่อ 150 ปีก่อน ส่วนยาชาที่ใช้ในปัจจุบัน“ลิโดเคน” งานวิจัยชี้ชัด ผลตรวจไม่มีทางหลอกว่าเป็นโคเคนได้ หลังตำรวจเข้าชี้แจง กมธ.สภาฯ อ้างสารโคเคนที่พบในตัว "บอส วรยุทธ" มาจากยารักษาฟัน
วันที่ 30 ก.ค. 63 จากการที่ตำรวจชี้แจงกรณีไม่แย้งคำสั่งอัยการที่ไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ว่า พนักงานสอบสวนให้ข้อมูลว่า ได้รับการยืนยันจากหมอฟันว่า สารที่ตรวจพบในร่างกายนายวรยุทธเป็นยาที่ให้ผู้ต้องหาในการรักษาฟันที่มีส่วนผสมของสารโคเคนอยู่ ทำให้ไม่สั่งฟ้องเรื่องสารเสพติด
จากนั้น ทางเพจทันตแพทย์ชื่อดัง “ห้องทำฟันหมายเลข 10” ได้โพสต์ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ...
เรื่องนี้จะไม่แปลกถ้าเป็นเมื่อ ศตวรรษที่ 18 !!! หมอฟันคนนั้นต้องนั่งไทม์แมชชีนมาแน่นอน
หนึ่งในยาที่ใช้มากที่สุดในทางทันตกรรม คือ ยาชา โดยยาชาตัวแรกที่นำมาใช้ทางการแพทย์ คือ โคเคน (cocaine) ในปี ค.ศ. 1859 (150 ปีมาแล้ว!!!) แต่ด้วยข้อเสียของโคเคนที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้น และมีฤทธิ์เสพติด จึงมีการพัฒนายาที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายโคเคน ชื่อ Procaine ขึ้นในปี ค.ศ. 1904
แต่ในปี ค.ศ. 1948 มีการนำยาชาที่มีสูตรโครงสร้างต่างไปจาก cocaine และ procaine ได้แก่ lidocaine และมียาชาที่พัฒนาต่อเนื่องตามมาได้แก่ mepivacaine (ค.ศ. 1965) prilocaine (ค.ศ. 1983; ยาชนิดนี้ไม่มีใช้ในประเทศไทย) และ articaine (ค.ศ. 2000)
โดยยาชาทั้งสามกลุ่มนี้มีสูตรโครงสร้างคนละแบบกับโคเคน รวมทั้งกระบวนการขับยาออกจากร่างกายก็ได้สารเคมีคนละกลุ่มกับโคเคน
Reference: Oral Maxillofacial Surg Clin N Am 25 (2013) 453–465
https://jamanetwork.com/journals/jama/article-abstract/445247
จากนั้นได้โพสต์อีกว่า ... คนก็ยังอาจสงสัยยาชามันชื่อลงท้าย “เคน” เหมือนกัน (แต่จริงๆ มันก็คนละโครงสร้างหละนะ) ถ้าไปฉีดยาชา “ลิโดเคน” ทำฟันมาจริงแล้วไปตรวจ “โคเคน” มันจะขึ้นผลหลอกว่ามีโคเคนหรือเปล่า (false positive)
จากการวิจัยก็บอกว่า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ครับ แปลว่า ตรวจเจอโคเคนก็คือโคเคน อย่ามาโบ้ยยาชาที่รักของหมอฟันนะ
เอาเอกสารวิชาการมาให้ดูกัน ว่ากันด้วยหลักการและเหตุผลนะครับ