อดีตโฆษก ปชป. เปิด รธน. 57 สวน “ธานี” กมธ.กฎหมาย ทำเกินหน้าที่ ทำตัวเป็น พนง.สอบสวน ช่วยคนหนีหมายจับพ้นผิด ใช้สภาเป็นเครื่องมือ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมตั้งต้น ทำลายระบบถ่วงดุลตามระบอบ ปชต. ชี้ ผิด 157 บี้ กก.ชุดนายกฯฟันอาญา
วันนี้ (31 ก.ค.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง เดินหน้าเอาผิด “กรรมาธิการการกฎหมาย สนช.” ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีเนื้อหาระบุว่า ผมได้ติดตามคำชี้แจงของ นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. ซึ่งเคยเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีเข้าไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริงประเด็นพยานที่ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ร้องขอให้อัยการสอบ แต่ไม่ได้รับการตอบรับนำเข้าไปอยู่ในสำนวน กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนของคดี มีการนำพยานสองปากและพยานแวดล้อม 2 ปาก รวมถึงนักวิชาการมาคำนวณความเร็วใหม่ พลิกจากนายวรยุทธ ขับรถประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เป็นไม่ผิด โยนบาปทั้งหมดให้ผู้ตาย แม้นายธานีจะอ้างว่า กรรมาธิการไม่ได้มีการชี้ถูกชี้ผิด แต่สิ่งที่กรรมาธิการทำ ถือว่าเกินเลยอำนาจหน้าที่ไปมาก
เมื่อไปพลิกรัฐธรรมนูญปี 2557 มาตรา 13 วรรคสอง และข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่นายธานีอ้างถึงแล้ว ไม่พบว่ามีการให้อำนาจหน้าที่กรรมาธิการทำตัวเป็นพนักงานสอบสวน เข้าไปก้าวล่วงอำนาจการสอบสวนสอบนำพยานมาสอบสวนเสียเองแต่อย่างใด โดย รธน. 2557 มาตรา 13 วรรค 2 เขียนไว้กว้างๆ ว่า “สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติ การอภิปราย การลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ส่วนข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ข้อ 78(3) ระบุอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการชุดนี้ไว้ว่า “มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ตลอดจนสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งกิจการตำรวจ”
“จากข้อบังคับข้างต้นจะเห็นชัดเจนว่า กรรมาธิการชุดนี้ได้ทำเกินหน้าที่ ก้าวล่วงอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรืออัยการ เพราะคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีไปแล้ว ที่ผ่านมา นายวรยุทธ และทีมทนายความ ก็ได้ใช้ช่องทางนำพยานเข้าสู่สำนวนอย่างเต็มที่เต็มพิกัดอยู่แล้ว ไม่ว่าการขอเลื่อนนัดไม่ไปรับทราบข้อกล่าวหาถึง 7 ครั้ง และยังหนีคดีไปต่างประเทศด้วย แต่พวกท่านกลับใช้กลไกรัฐสภาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือคนหนีหมายจับให้พ้นคดี ด้วยการทำตัวเป็นพนักงานสอบสวนสอบสวนพยานที่ทั้งอัยการและตำรวจตีตกไม่รับเข้าสำนวน รวมถึงนักวิชาการซึ่งไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความเห็นเรื่องความเร็วรถ ที่เป็นคุณกับนายวรยุทธ ส่งให้อัยการสั่งตำรวจสอบเพิ่ม จนมีการเพิ่มเติมเข้าไปในสำนวน กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนในคดีนี้ โดยอ้างว่าให้ความเป็นธรรมกับนายวรยุทธ โดยไม่สนใจมุมของผู้เสียชีวิตเลย และยังถือว่าเป็นใช้กลไกของรัฐสภาไปก้าวก่ายงานกระบวนการยุติธรรม ทำให้หลักการถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยเสียไป”
“ผมจึงเห็นว่า กรรมการที่นายกฯตั้งขึ้น นอกจากจะตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับสังคม ค้ำยันไม่ให้องค์กรตำรวจและอัยการสั่นคลอนมากไปกว่านี้แล้ว พวกท่านต้องเอาคนผิดที่บิดเบือนกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นแบบเป็นขบวนการมาลงโทษให้ได้ด้วย ไล่ตั้งแต่ กมธ.กฎหมาย สนช. ตำรวจ ไปจนถึงอัยการที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง ดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แบบกราวรูด ให้เป็นคดีตัวอย่าง จะได้ไม่มีใครกล้าบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นอีก” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย