ราชกิจจานุเบกษาประกาศ ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ป้องกันเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ (คราวที่ ๔) เรื่อง การขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 3 ออกไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 นั้น
โดยที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้สถานที่ กิจการและกิจกรรมต่างๆ สามารถเปิดดำเนินการได้มาเป็นลำดับ โดยคงเฉพาะมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 รวมทั้งส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนปรับรูปแบบ
การดำเนินชีวิตตามแนววิถี “นิวนอร์มัล” แต่ประชาชนจำนวนมากละเลยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค มีการรวมกลุ่มกันโดยไม่รักษาระยะห่าง (social distancing) อันเป็นมาตรการอันเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าได้ผลในการป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานที่สาธารณะ สถานบริการและสถานบันเทิง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดและติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนที่สามารถพัฒนาเป็นการระบาดในวงกว้างต่อไป
นอกจากนี้ ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีข้อมูลว่าในเดือนสิงหาคมนี้จะมีคนไทยแสดงความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยไว้ต่อทางราชการเป็นจำนวนนับหมื่นคน อีกทั้งคนต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งแจ้งว่ามีความจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรภายใต้การปฏิบัติตามพันธกรณีและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเพื่อความต่อเนื่องในการประกอบธุรกิจการค้าพาณิชย์ แรงงาน หรือการศึกษา
ดังนั้น เพื่อปกป้องความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขของประเทศ และป้องกันมิให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ที่อาจมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง โดยลดข้อจำกัดการดำเนินการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน แต่เน้นการบูรณาการความรับผิดชอบและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายนอกเหนือไปจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นไปโดยมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ มุ่งรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563