หน.พลังธรรมใหม่ แนะ ปัญหาหนี้สินครูต้องการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย มั่นใจภายใน 5 ปี หนี้สินจะลดลงเกือบครึ่ง หวั่น ปัญหาของครูจะกระทบเด็กนักเรียน
วันนี้ (30 ก.ค.) นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวอภิปรายในญัตติการแก้ไขหนี้สินครู ว่า อาชีพครูเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่มีการตั้งสหกรณ์ขึ้นมา และสหกรณ์ให้ครูกู้ได้เกินมูลค่าหุ้นที่มี หลังจากนั้นก็เกิดการกู้เกินตัวสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุของการมีหนี้สินจำนวน ถึง 1.4 ล้านล้านบาทของครู มาจากการขาดความคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง-ใช้ชีวิตฟุ้งเพ้อ ใช้เงินเกินฐานะ-บริโภคนิยมทำให้เกิดการกู้แบบลืมตัว ไม่มีการวางแผนการกู้เพื่อสร้าง รายได้ที่ดีพอ พอกู้ได้ก็กู้เลย และฝ่ายบริหารของกระทรวง ศธ. สถาบันการเงินดำเนินนโยบายผิดพลาดและส่วนหนึ่งเกิดมาการมีเงินทอน จากการดำเนินงาน
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า ทางสองแพร่งที่รัฐบาลต้องเลือกในการแก้ไขหนี้สินครูคือ ปล่อยให้ครูแก้ไขเอง หรือรัฐบาลเข้าไปช่วยแก้ไข สาเหตุที่รัฐต้องช่วยเพราะว่าครูจำนวนประมาณ 100,000 คน ที่เป็น NPL ต้องคอยหนี เจ้าหนี้ หนีครูที่เป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งครูจะทยอยถูกยึดทรัพย์ ถูกฟ้องล้มละลายประมาณ 100,000 กว่าคน ปัญหาที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อปฏิรูปการศึกษา 15 ล้านคน ซึ่งถ้ารัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือต้องมีหลักการที่สำคัญ คือ ต้องไม่นำภาษีของประชาชนมาแบกหนี้สินครู ปรับโครงสร้างหนี้-ลดดอกเบี้ย และหยุดสร้างหนี้ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า การปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย ทำได้โดยการให้สหกรณ์ครูซื้อหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง ส่วนธนาคารที่ดอกเบี้ยไม่สูงขอให้ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือแค่ 4% แต่ครูต้องช่วยเหลือครูด้วยกันเองโดยให้สหกรณ์ครูต้องลดดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินปันผลให้เหลือแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นให้ค่าใช้จ่ายสหกรณ์ 1-2 เปอร์เซ็นต์ และให้คิดดอกเบี้ยเงินกู้กับครูลูกหนี้เท่ากับ 4% ทั้งนี้ ธอส. ที่ดอกเบี้ยไม่สูงมาก ให้ลดดอกเบี้ยเป็นไม่เกิน 4% ธนาคารออมสิน ขอให้ลดดอกเบี้ยเหลือ 4% รัฐบาลออกพันธบัตรกู้เงิน ประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ดอกเบี้ย 2.0-2.5% ระยะเวลา 5 ปี ออกขายกับประชาชนเพื่อช่วยสหกรณ์ครู เพื่อซื้อหนี้จากสถาบันการเงินที่ดอกเบี้ยสูงและคืนเงิน ที่สหกรณ์ครูกู้
จากธนาคารอื่นที่เสียดอกเบี้ยเกิน 3% เพื่อให้สหกรณ์คิดดอกเบี้ยครู 4% และช่วยธนาคารออมสินเพื่อให้ธนาคารออมสินลดดอกเบี้ยให้ครูเหลือ 4%
แต่สหกรณ์ครู และธนาคารออมสินต้องรับผิดชอบ ดอกเบี้ยทั้งหมดของพันธบัตร ไม่ให้เป็นภาระของประชาชนแม้แต่บาทเดียว การดำเนินการตามหลักการนี้ คาดว่า หนี้ครูจะไปอยู่ที่สหกรณ์ครู 113 แห่ง เป็นเงิน 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ธนาคารออมสิน 400,000 ล้านบาท อยู่ที่ ธอส. 60,000 ล้านบาท และทุกแห่งคิดดอกเบี้ยจากครู 4% ทุกแห่ง โดยทางรัฐไม่ต้องนำภาษีประชาชนมาแบกหนี้สินครูเลย เมื่อการช่วยเหลือครบ 5 ปี คาดว่า หนี้สินครูจะลดลง 600,000 ล้านบาท คงเหลือหนี้จาก 1.4 ล้านล้านบาทเป็น 800,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้น สหกรณ์ครู และธนาคารออมสิน ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่ง พันธบัตรรัฐบาลแล้ว