คำประกาศของผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นายวิทัย รัตนากร ในการลงสนามแข่งขันปล่อยสินเชื่อกับธุรกิจนอนแบงก์ เพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อให้ลดลงประมาณ 8-10% ทำให้เกิดความคาดหมายว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจนอนแบงก์ จะได้รับผลกระทบโดยทั่วหน้า
สินเชื่อบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อบัตรเครดิต ปัจจุบันกำหนดอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 24%-28% โดยมีลูกค้าทั้งสิ้นประมาณ 25.38 ล้านราย ยอดสินเชื่อทั้งหมด 4.81 แสนล้านบาท
บริษัทจดทะเบียนกลุ่มนอนแบงก์รายใหญ่ ประกอบด้วย บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC และบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD
ธุรกิจนอนแบงก์มีผลประกอบการที่โดดเด่น มาร์จิ้นหรือส่วนต่างผลกำไรสูงมาก โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถของ MTC และ SAWAD ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แม้มีเสียงเรียกร้องให้ ควบคุมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนอนแบงก์ โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งกฎหมายกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 28% และไม่รวมค่าธรรมเนียมหรือค่าบริหารอย่างอื่น แต่ไม่เคยมีหน่วยงานใดลงมาแก้ไข ปล่อยให้ประชาชนจำนวนหลายล้านคน ถูกโขกดอกเบี้ยในอัตรามหาโหด
ธนาคารออมสินไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ควบคุมดูแลธุรกิจนอนแบงก์ แต่สามารถดำเนินธุรกิจนอนแบงก์ได้ และอยู่ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจนอนแบงก์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการคิดอัตราดอกเบี้ยจากประชาชนผู้ขอสินเชื่อ
อีกประมาณ 6 เดือน ธนาคารออมสินจะลงสนามแข่งขันธุรกิจนอนแบงก์เต็มตัว โดยเป้าหมายสำคัญคือ การทำให้อัตราดอกเบี้ยในธุรกิจนอนแบงก์ทั้งระบบลดลงประมาณ 8% ถึง 10% และพร้อมรีไฟแนนซ์ลูกหนี้ธุรกิจนอนแบงก์อื่น
ฐานะของธนาคารออมสิน มีความพร้อมสำหรับการแข่งขัน ทั้งเครือข่าย เงินทุน บุคลากร และภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ นอกจากนั้น การขยายธุรกิจสู่นอนแบงก์ จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เพราะเป็นนโยบายที่จะช่วยปลดเปลื้องภาระลูกหนี้ในธุรกิจนอนแบงก์ทั้งระบบ โดยไม่ต้องแบกภาระการผ่อนชำระหนี้มากเกินไป
แม้รัฐบาลจะไม่ออกกฎหมายควบคุมการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนอนแบงก์ แต่การที่ธนาคารออมสินโดดลงสนามมาแข่งขัน และชูธงนโยบายดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า จะทำให้ธุรกิจนอนแบงก์ทั้งระบบต้องปรับตัว ลดดอกเบี้ยตามธนาคารออมสิน เพื่อรักษาฐานลูกค้า
เพราะถ้ายังคิดดอกเบี้ยแพงๆ ลูกค้าจะวิ่งเข้าหาธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนกลุ่มนอนแบงก์หลายรายออกมายอมรับแล้ว การประกาศตัวลงสนามแข่งขันของธนาคารออมสิน จะทำให้ ผู้ประกอบธุรกิจรายเดิมต้องปรับตัว และปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน ซึ่งหมายถึงมาร์จิ้นของธุรกิจมีแนวโน้มลดลง
หุ้นนอนแบงก์เป็นกลุ่มที่โดดเด่นมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะ MTC และ SAWAD ซึ่งถูกประเมินว่า แนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง นักลงทุนสามารถซื้อเพื่อเก็งกำไรหรือถือลงทุนระยะยาวได้ แต่ ธนาคารออมสินกำลังดับฝันกลุ่มธุรกิจนอนแบงก์
กำไรของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มนอนแบงก์อาจไม่สดใสเหมือนเดิมแล้ว ลูกค้าสินเชื่อที่เติบโตต่อเนื่อง อาจกลับเข้าสู่ภาวะชะลอตัว หรือหดตัว หากบริษัทใดปรับตัวรับมือกับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นไม่ทัน
นักลงทุนต้องปรับมุมมองหุ้นกลุ่มนอนแบงก์ใหม่ และถ้ามีหุ้นอยู่ในมืออาจชิงลดน้ำหนักการลงทุน ลดความเสี่ยงผลกระทบการที่ธนาคารออมสินจะลงมาแข่งขันปล่อยสินเชื่อ
เพราะธนาคารออมสินกำลังทุบหม้อข้าวหุ้น MTC, SAWAD, KTC และ AEONTS