คณาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ออกแถลงการณ์เรียกร้อง “อสส.-สตช.” เปิดขั้นตอนการดำเนินการคดีอาญา “ทายาทกระทิงแดง” โดยละเอียด พร้อมอธิบายเหตุผล “คดีที่ขาดอายุความ-ใช้ดุลพินิจไม่ฟ้องคดีอาญา” พร้อมตรวจสอบ การใช้ดุลพินิจไม่ฟ้องฯ “ถูกต้องตามกฎหมาย สุจริตและโปร่งใสหรือไม่” จี้หากพบขั้นตอนใดไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สุจริต หรือไม่โปร่งใส ให้พิจารณาดำเนินการและใช้ดุลพินิจใหม่ให้ถูกต้อง
วันนี้ (27 ก.ค.) มีรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แถลงการณ์และลงนามตอนท้าย คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา นายวรยุทธ อยู่วิทยา
มีใจความว่า ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการยุติการดำเนินคดีอาญากับ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งถูกตั้งข้อหาเป็นคดีอาญา 5 ข้อหา รวมถึงข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
โดยที่ทั้ง 5 ข้อหานี้ หากมีการดำเนินคดีอาญาและต่อสู้คดีกันตามปกติ แม้พิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริง ก็มีโอกาสที่ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ อย่างไรก็ตาม ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีความพยายามในการช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดียิ่งให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนที่ให้การช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาถูกลงโทษทางวินัย
ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเองได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ และไม่ได้กลับมาต่อสู้คดีตามปกติเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายปี ข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเหตุให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความโปร่งใสและประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และคอยติดตามความคืบหน้าของการดำเนินคดีด้วยความวิตกกังวลอย่างยิ่ง
แม้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการดำเนินคดีและผลของคดีอาญาในคดีจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของประเทศในภาพรวม การดำเนินคดีอาญาในคดีนี้กลับเป็นไปด้วยความล่าช้า จนทำให้คดีขาดอายุความไป 3 ข้อหา ในขณะที่ข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นข้อหาที่อุกฉกรรจ์ที่สุดในบรรดาข้อหาทั้งหมดและเจ้าพนักงานยังมีโอกาสพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหาไปจนถึงปี 2570 สำนักงานอัยการสูงสุดกลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง
และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว ทั้งที่ได้เคยมีการออกหมายจับไปแล้วก่อนหน้า และมีการแจ้งให้สาธารณชนทราบเมื่อไม่นานมานี้ว่าอยู่ระหว่างการดำเนินคดี โดยไม่ได้ชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงคำสั่งและดุลพินิจ ซ้ำร้ายสังคมกลับทราบข่าวการสั่งไม่ฟ้องจากสื่อต่างประเทศ
นอกจากนี้ รายงานการตรวจพบสารเสพติดในตัวผู้ถูกกล่าวหาซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาขับรถขณะเมาสุราที่ได้ยุติไปก่อนหน้า และการไม่ดำเนินคดีอาญาใดๆ ที่เกี่ยวข้องการตรวจพบสารเสพติดในร่างกาย
แม้ว่าตามกฎหมาย พนักงานอัยการจะมีดุลพินิจในการสั่งคดีไม่ว่าจะเป็นการสั่งฟ้องหรือการสั่งไม่ฟ้องบนพื้นฐานของ “พยานหลักฐาน” ว่าพอเพียงที่จะดำเนินคดีหรือไม่และรับฟังได้เพียงใด หรือบนพื้นฐานของ “ประโยชน์สาธารณะ” แต่การใช้ดุลพินิจดังกล่าวจะต้องมี “เหตุผล” ที่หนักแน่น
โดยเฉพาะคดีที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างเช่นคดีนี้ ยิ่งต้องแสดงเหตุผลที่หนักแน่นมากเป็นพิเศษเพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำเนินคดีอาญาที่โปร่งใส เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยคลายความวิตกกังวลของสาธารณชน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มมีการดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาเมื่อปี 2555 จวบจนปัจจุบัน ความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่คำชี้แจง หรือคำอธิบายต่อการดำเนินการและผลทางคดีกลับไม่ชัดเจน ไม่มีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอ และบางครั้งมีความขัดแย้งกันเอง สร้างความไม่พอใจและเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำ และเลือกปฏิบัติเพราะเหตุของความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม จนเกิดวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน”
ในขณะที่บุคลากรส่วนใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายพยายามอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและพยายามกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการดำเนินคดีอาญาต่อ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทำให้ความพยายามดังกล่าวไร้ความหมายในสายตาของประชาชาชน และการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมที่มีต่อองค์กรและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมบั่นทอนกำลังใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม
เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายและหลักนิติรัฐ เพื่อกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย และเพื่อรักษากำลังใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและด้วยความภาคภูมิใจ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม
คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามข้างท้าย ขอเรียกร้องให้สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร็ว
1. ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการคดีอาญากับ นายวรยุทธ อยู่วิทยา โดยละเอียดและอธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนถึงผลของคดีที่ขาดอายุความและการใช้ดุลพินิจไม่ฟ้องคดีอาญา
และ 2. ตรวจสอบว่าการดำเนินการและการใช้ดุลพินิจดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย สุจริต และโปร่งใสหรือไม่ และหากพบว่ามีการดำเนินการหรือการใช้ดุลพินิจในขั้นตอนใดไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สุจริต หรือไม่โปร่งใส ให้พิจารณาดำเนินการและใช้ดุลพินิจใหม่ให้ถูกต้อง
27 กรกฎาคม 2563 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1. รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน 2. รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด 3. รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ 4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี 5. รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร
6. รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ 7. รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร 8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย 9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวีศักดิ์ เอื้ออมรวนิช 10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ
11. อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์ 12. อาจารย์เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์ 13. อาจารย์เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม 14. อาจารย์ภัทรพงษ์ แสงไกร 15. ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ 16. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
17. ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต 18. ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ศิริคุณโชติ 19. อาจารย์ปทิตตา ไชยปาน 20. อาจารย์อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ 21. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล 22. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
23. อาจารย์สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ 24. อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ 25. อาจารย์ ดร.นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล 26. อาจารย์จุฑามาศ ถิระวัฒน์ 27. อาจารย์ปรียาภรณ์ อุบลสวัสดิ์ 28. อาจารย์กรกนก บัววิเชียร 29. อาจารย์กีระเกียรติ พระทัย 30. อาจารย์เมษปิติ พูลสวัสดิ์ 31. อาจารย์กิตติภพ วังคำ