“ประยุทธ์” เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับทูตไนจีเรีย รับคำชมแก้โควิด พร้อมร่วมมือด้านสาธารณสุข รวมถึงด้านอื่นๆ มองเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคระหว่างกัน
วันนี้ (20 ก.ค.) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอาห์เมด นูฮู บามัลลี (H.E. Mr. Ahmed Nuhu Bamalli) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่ออำลาในโอกาสพ้นหน้าที่ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ ที่ได้ปฏิบัติงานอย่างแข็งขันตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำรงตำแหน่ง ถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและไนจีเรียที่มีมากว่า 49 ปีให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยได้เข้าทำธุรกิจในไนจีเรีย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยเข้าลงทุนในไนจีเรียแล้ว 3 ราย ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนและสานต่อความร่วมมือระหว่างกันให้มีความก้าวหน้าต่อไป พร้อมฝากความระลึกถึง นายมูฮัมมาดู บูฮารี (H.E. Mr. Muhammadu Buhari) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้ในเร็ววัน และรัฐบาลไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับไนจีเรียเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างครอบคลุมทุกมิติ
เอกอัครราชทูตฯ ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานมาโดยตลอด พร้อมชื่นชมการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการของนายกรัฐมนตรี และศักยภาพทางสาธารณสุขของไทย ไนจีเรียสนใจที่จะมีความร่วมมือในด้านของระบบสุขภาพ และการรักษาพยาบาลกับรัฐบาลไทย และโรงพยาบาลในไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจว่าไทยพร้อมให้ความร่วมมือเพราะเป็นด้านที่รัฐบาลไทยมีความเชี่ยวชาญ
ทั้งนี้ ไนจีเรียได้ชื่นชมศักยภาพด้านอื่นๆ ของไทย และเห็นโอกาสในการเพิ่มพูนความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ด้านการเกษตร ข้าวของไทยที่ได้รับความนิยมในไนจีเรีย ซึ่งความร่วมมือกันจะเป็นโอกาสในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารร่วมกัน ด้านการศึกษา ไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาให้กับไนจีเรีย ด้านการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายพร้อมมีความร่วมมือโดยจะเน้นในสาขาที่ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศสนใจ ด้านพลังงาน ไนจีเรียพร้อมที่จะสนับสนุนแหล่งปิโตเลียม และไทยพร้อมเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไนจีเรียสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาของประเทศได้
ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศสามารถที่จะเป็นศูนย์กลาง ในการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคระหว่างกันได้ ซึ่งจะสามารถขยายความร่วมมือด้านการตลาดระหว่างกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)