xs
xsm
sm
md
lg

“พี่เต้” ชม “สมศักดิ์” ติด EM แก้นักโทษล้นคุก พร้อมเสนอ โปรตุเกส-สวิตเซอร์แลนด์ โมเดล เปลี่ยนผู้ต้องขังคดียาเสพติดเป็นผู้ป่วยต้องบำบัด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ฐานะอดีตกรรมการคืนคนดีสู่สังคม กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงปัญหา “นักโทษล้นคุก” เป็นหนึ่งปัญหาที่กรมราชทัณฑ์กำลังเผชิญ เมื่อประเทศไทยมีจำนวนนักโทษในเรือนจำสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และเกินกว่าความจุของเรือนจำ โดยปัจจุบันคุกทั่วประเทศไทยสามารถรับนักโทษได้ประมาณ 200,000 คน แต่ในความเป็นจริงกลับมีผู้ต้องขังมากถึง 360,000 กว่าคน


ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งสิ้น 368,472 คน แบ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด (คดีถึงที่สิ้นสุดแล้ว) 308,212 คน ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา 27,902 คน ผู้ต้องขังระหว่างไต่สวนและอื่นๆ 32,358 คน ขณะที่เรือนจำทั่วประเทศไทยสามารถรองรับนักโทษได้ประมาณ 200,000 คน หมายความว่า ปัจจุบันจำนวนนักโทษในเรือนจำเกินความจุของพื้นที่ไปมากกว่า 160,000 คน ในจำนวนนักโทษทั้งหมด 368,472 คน เป็นผู้ต้องขังเกี่ยวกับคดียาเสพติดมากที่สุด คือกว่า 79% หรือ 291,456 คน อีกประมาณ 11% หรือ 41,259 คน มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ส่วนอีก 7% หรือ 27,589 คน มีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย และอีก 3% เป็นความผิดอื่นๆ โดยมีนักโทษที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียง 6,534 คน และมีนักโทษที่ต้องโทษประหารเพียง 324 คน ซึ่งรวมกันแล้วไม่ถึง 2%

นอกจากนี้ ช่วง 5 ปีที่ผ่านเรือนจำทั่วประเทศไทยมีนักโทษรวมกัน เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 330,000 คน/ปี โดยในแต่ละปีกรมราชทัณฑ์ต้องรับนักโทษเข้าคุกเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ ซึ่งมากกว่าจำนวนนักโทษที่ถูกปล่อยตัว อย่างเมื่อปี 2561 มีนักโทษเข้าคุกทั้งสิ้น 221,951 คน ขณะที่ปล่อยตัวนักโทษออกจากคุก 148,502 คน ดังนั้นเมื่อทุกๆ ปีมีนักโทษเข้าคุกมากกว่าออก ความแออัดในเรือนจำจึงยากจะลดลง จำนวนผู้ต้องขังที่มากเกินความจุของคุกและเกินกำลังดูแลของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพของกระบวนการฟื้นฟูนักโทษภายในคุก รวมถึงความเข้มงวดของกระบวนการพิจารณาลดโทษ จนสุดท้ายแล้วทำให้ผู้กระทำความผิดบางรายออกจากคุกมาก่อเหตุซ้ำ

นายมงคลกิตติ์ กล่าวชื่นชมความตั้งใจในการทำงานและแนวคิดของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการแออัดในเรือนจำ โดยการคัดชั้นนักโทษที่มีโทษเหลือน้อยและเป็นนักโทษชั้นดี ให้ติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ กำไล EM และกลับคืนสู่สังคม อีกทั้งเร่งศึกษาโครงการสร้างงานสร้างอาชีพอีกทางหนึ่งด้วยการทำโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ให้ผู้ต้องขังพัฒนา ทักษะ ความรู้ อาชีพ ด้านต่างๆ สร้างรายได้ระหว่างต้องโทษแบ่งเบาภาระทางบ้าน ซึ่งตนมองว่าเป็นสิ่งที่ดีและสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว

นายมงคลกิตติ์ กล่าวเสริมว่า ตนได้เดินทางมาหลายประเทศ ดูแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในแต่ประเทศที่ทำสำเร็จมาซึ่งน่าเอามาเป็นแบบอย่าง ผมจึงขอเสนอแนวทางเพิ่มเติม เกี่ยวกับการลดจำนวนผู้ต้องขังส่วนใหญ่ คือ ผู้ต้องขังคดียาเสพติด ที่มีมากถึง 291,456 คน หรือ กว่า 79% ของนักโทษทั้งหมด เท่ากับ ประชากรประเทศวานูอาตูเลยที่เดียว ซึ่งผู้ต้องขังคดียาเสพติด คือ กระทำผิดโดยเสพยาบ้า 80% อีก 10% เสพเฮโรอีน และ ฝิ่น นอกนั้นอีก 10% คือ ผู้ค้า ดังนั้น ผมจึงอยากเสนอแนวคิดให้ ผู้เสพยาบ้า หรือ เสพเฮโรอีน หรือ เสพฝิ่น หรือ ผู้ถือครองยาเสพติดในปริมาณพอประมาณ หรือ เรียกว่าผู้ค้าปลีก เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาบำบัดพื้นฟู โดยใช้ โปรตุเกส-สวิสเซอร์แลนด์ โมเดล เพราะประเทศเขาทำสำเร็จ คนติดยาหรือผู้เสพได้รับการบำบัดรักษาเพิ่มเติม อัตราการใช้ของวัยรุ่นลดลง อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดลดลง และ มูลค่าของยาเสพติดถูกลง ขบวนการค้ายาเสพติดขาดสภาพคล่องจนล่มสลาย เราไม่จำเป็นเลยที่ต้องทุ่มเทกำลังทรัพยากรทุกอย่างในการปราบปรามยาเสพติด เพราะยิ่งปราบปรามมาก ราคายาเสพติดยิ่งเพิ่มมูลค่ามาก ทำให้ผู้ผลิตผลิตมากขึ้น ทำมานานมากแต่ก็ยังเพิ่มขึ้นทวีคูณ ก็แสดงว่าเรามาผิดทาง การใช้วิธีรุนแรงไม่ใช่ทางออก เพิ่มภาระงบประมาณแผ่นดินในด้านการปราบปราบและเพิ่มงบในการดูแลผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์เท่ากับ 1 ประเทศ (ไอซ์แลนด์) ถ้า วิธีนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา เห็นด้วยกับตน ตนก็จะเสนอสภาผุ้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดและนักโทษยาเสพติดล้นคุก ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น