xs
xsm
sm
md
lg

“สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” ยื่นจดหมายลาออกคณะที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “รมว.ยุติธรรม” จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ รับ “สุพจน์” ร่อนจดหมายลาออก มีผล 22 มิ.ย. ด้าน “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” หวั่น ประชาชนเมินการโกง หลังผู้กระทำผิดมีที่ยืน

วันนี้ (25 มิ.ย.) เวลา 13.30 น. ห้องรับรอง ชั้น 2 กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานการเสวนาเพื่อแสดงความคิดเห็นจากผลกระทบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ การคืนบุคคลให้เป็นคนดีสู่สังคม โดยมี นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายนัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย, นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน, นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT), นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด นายวินรวีร์ ใหญ่เสมอ หรือ ต๊ะ บอยสเก๊าท์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนเป็นรัฐมนตรีมา 14 ครั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำงานด้านสังคม โดยคนก็ตราหน้าว่าจะทำความเข้าใจได้หรือไม่ ตนจึงเป็นนักฟังที่ดีเพื่อต้องการความจริงและแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยขอย้ำว่า ยินดีรับฟังทุกข้อเสนอแนะ ส่วนการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ยังเป็นเพียงขั้นตอนศึกษา ซึ่งยังไม่สร้าง โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำ 3.8 แสนคน พบว่า มีผู้ต้องขังที่พ้นโทษกลับเข้าเรือนจำ เพราะไม่มีอาชีพและเป็นผู้มีรายได้น้อย ตนจึงตั้งคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ เพื่อมาศึกษาแก้ปัญหา

“ที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การตั้งที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ ขอย้ำว่า ที่ตั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ อย่าง นางอัญชลี ชวนิชย์ อดีตผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม, นายศิวะ แสงมณี อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์, นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ, นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ อดีตอธิบดีกรมทางหลวง และ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม แต่กรณี นายสุพจน์ ถูกตั้งข้อสังเกตก็ขอเน้นย้ำว่า การตั้งเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้สะท้อนประสบการณ์เป็นผู้ต้องขังเป็นหลักเพราะจะรู้ใจผู้ต้องขัง ซึ่งถ้าสร้างสวนสาธารณะ และเชิญนายสุพจน์ มาคงแย่ที่สุด แต่ทั้งหมดผมขอรับฟังเพราะไม่อยากเกิดข้อขัดแย้ง”

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 63 นายสุพจน์ เขียนจดหมายถึง ตนเพื่อขอลาออกจากคณะที่ปรึกษาอนุกรรมการ โดยระบุว่า “ตามที่คณะกรรมาราชทัณฑ์ได้มีคำสั่ง 1/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเรื่องศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2563 แต่งตั้งผมเป็นคณะที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ตามรายละเอียดที่แจ้งแล้วนั้น เมื่อได้รับการทาบทามจากกระทรวงยุติธรรม ผมเห็นว่า จะสามารถใช้ความรู้ประสบการณ์ และความเข้าใจที่มีต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ มาถ่ายทอดให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม และประเทศชาติ ผมจึงได้ตอบรับที่จะเข้าร่วม แต่ต่อมาผมได้รับทราบจากสื่อต่างๆ ว่า มีกระแสความไม่เห็นด้วยและเห็นว่า การที่ผมรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการชุดนี้ ไม่มีความเหมาะสม ผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการยุติความขัดแย้งในสังคมและให้อนุกรรมการสามารถเริ่มปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศได้ทันที ผมจึงขอลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมการ โดยมีผลทันทีจากวันที่ 22 มิ.ย. 63” เช่นเดียวกับ นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ได้ทำหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่า มีภารกิจบางประการที่รับผิดชอบและจะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นประจำทุกเดือน อาจจะมีผลกระทบทำให้การทุ่มเทเวลาที่จะช่วยงานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์

ด้าน นายวิศิษฎ์ เปิดเผยว่า จากตัวเลขผู้ต้องขัง 3.8 แสนคน ได้เก็บข้อมูลการกระทำผิดซ้ำ 5 ปีย้อนหลัง พบว่า ผู้กระทำผิดซ้ำ 35 เปอร์เซ็นต์ไม่ลดลง โดยที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ ก็มีแนวคิด คืนคนดีสู่สังคม แต่การคืนบุคคลเข้าสู่สังคมยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการเข้าเรือนจำไม่ใช่จุดจบแต่เป็นจุดเริ่มต้น โดยปัญหาใหญ่ที่พบ คือ ทัศนคติในเรื่องของโอกาส ซึ่งหลายคนจะพูดถึงโอกาสแต่เรื่องนี้ เป็นข้อด้อยที่สุดเพราะคนที่เคยติดคุกจะขาดคุณสมบัติหลายเรื่อง ทำให้ช่องทางเดินไม่กว้าง อย่าง บริษัทเอกชน ก็กังวลใจในการรับเข้าทำงาน แต่ถ้าเราไม่ดูแล ก็จะเป็นปัญหาหนึ่งเพราะเขาจะกระทำผิดอีก นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่เคยรับผู้ต้องขังเลย ตนจึงเคยถกเถียงประเด็นนี้จนในที่สุดได้ลองเปิดโอกาส โดยตัดคุณสมบัติเคยจำคุกมาก่อนออก

ส่วน นายมานะ เผยว่า เท่าที่ศึกษาโครงการ ยอมรับว่า การพัฒนาเตรียมความพร้อมคืนคนดีสู่สังคมเป็นเรื่องที่ดีและสังคมไทยยอมรับว่า เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งในภาพรวมไม่มีอะไรคัดค้าน โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่ปัญหาใหญ่ คือ การต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะทัศนคติของประชาชนเวลาพูดคอร์รัปชันจะกลัวเดือดร้อน โดยคนไทยเกลียดการโกงทุกคน แต่มักจะพูดว่าอยู่เฉยๆ ดีกว่าเพราะมีความเชื่อว่าเป็นผู้มีตำแหน่งใหญ่ เดี๋ยวก็กลับมาได้ ดังนั้น ตนมองว่าถ้าโดนลงโทษแล้ว กลับมามีบทบาททางการเมืองได้ก็จะซ้ำเติมความรู้สึกประชาชนที่เชื่อว่าไม่เห็นมีอะไรเลย จนอาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมสังคมที่เมินเฉยเรื่องคอร์รัปชัน ทั้งนี้ต้องช่วยกันทำทิศทางที่ดีให้ก้าวหน้า โดยคนที่เคยต้องขังและกลับสู่สังคมเป็นเรื่องที่ดีแต่คดีทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช่ลักวิ่งชิงปล้น หรือ ยาเสพติด ซึ่งเป็นคดีทำลายชาติ สร้างความเสียหายและรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดมาตรการไว้ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เชื่อว่ายังได้รับโอกาสทางสังคมที่สามารถไปวัด ห้างสรรพสินค้าได้ ดังนั้น การแต่งตั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ตนขอให้พิจารณาอย่างระวังและต้องไม่เป็นต้นแบบ จนประชาชนและข้าราชการเกิดความเข้าใจผิด

ขณะที่ นายวินรวีร์ หรือ ต๊ะ บอยสเก๊าท์ เล่าประสบการณ์ว่า เคยตกเป็นผู้ต้องหาคดีปืนและยาเสพติด โดยใช้เวลาสู้คดี 3 ปี แต่ในช่วง 2 ปีแรก ถูกแบนจากวงการบันเทิง แต่โชคดี ศาลพิพากษาว่าไม่ผิด แต่หลังไม่ผิด สิ่งที่ได้รับคือ ทุกคนยังตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี และผลกระทบจากข่าวยังมีอยู่ อย่างเวลาเป็นพรีเซ็นเตอร์จะถูกตัดสิทธิ์เลือกคนอื่น ซึ่งตนพยายามสู้มาโดยตลอด แต่ยอมรับว่า ในสังคมยอมรับยาก ขนาดตนไม่เข้าคุกก็ยังถูกตัดสินทางสังคม โดยเป็นเรื่องยากมากที่จะมีคนเข้าใจและให้โอกาส อย่างเพื่อนในวงการหลายคนก็ไม่ได้รับโอกาส ส่วนโครงการเรือนจำอุตสาหกรรม ตนมองว่า เป็นโครงการที่ดี และสร้างสรรค์ ซึ่งถ้ามีพื้นที่ได้รับการยอมรับ คุณภาพชีวิตก็จะกลับมาเป็นคนอีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น