หน.ก้าวไกล แถลงจวกรัฐหละหลวมป้องกันโควิด-19 แนะกันงบ 1 แสนล้าน อุ้มเอสเอ็มอีระยอง ถามความจริงใครต้องรับผิดชอบ ปล่อยทหารอียิปต์-ลูกอุปทูตซูดานเข้าประเทศไม่กักตัว
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงความหละหลวมของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าทางพรรคก้าวไกลได้ใช้กลไกของรัฐสภา โดยขอข้อมูลรายละเอียดของทหารอียิปต์ซึ่งติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วเดินทางเข้ามาที่จังหวัดระยอง ซึ่งได้มีการไปพักในโรงแรมและเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า รวมถึงกรณีของลูกสาวอุปทูตซูดานซึ่งติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทย โดยไม่ได้รับการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรการของรัฐบาลว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจสำหรับประชาชน
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดระยอง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลใช้อำนาจด้วยความหละหลวม และมีความผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศเกิดความเสียหาย จากการยกเลิกห้องพัก 100% การยกเลิกทัวร์ภายในจังหวัดระยอง การปิดห้างสรรพสินค้า การปิดโรงแรม เด็กนักเรียนต้องหยุดเรียน การจับจ่ายใช้สอยหยุดชะงัก รวมไปถึงคนขับแท็กซี่ บุคคลใกล้ชิดกับผู้ที่ทำงานในห้างและในโรงแรมต้องหยุดงาน ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง นับเป็นจำนวนอีกหลายหมื่นคน ทั้งที่ได้ใช้ชีวิตปกติยังไม่ถึง 2 สัปดาห์
ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่พบว่า มีสต๊อกสินค้าอาหารที่ยังคงค้างไม่สามารถขายได้ และยังมีประชาชนไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล เช่น เงินเยียวยา 5,000 บาท และเงินประกันสังคม ที่ยังเบิกไม่ได้ รวมถึงมีกลุ่มนักดนตรีที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา บางคนถึงกับบอกว่า ไร้ทางออก ไม่รู้ว่าชีวิตจะเดินต่อไปอย่างไร และหมดหวังกับรัฐบาล
ส่วนกรณีลูกสาวอุปทูตซูดานที่เข้ามาภายในกรุงเทพฯ ต้องการทราบความจริงจากรัฐบาลว่าเป็นความจริงหรือไม่ที่พบผลการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ครอบครัวนี้ก็ไม่ได้ไปที่โรงพยาบาลในทันที กลับเข้าไปพักในคอนโดมิเนียม รวมถึงต้องการคำตอบว่าหากสถานทูตไม่สามารถกักตัวนักการทูตที่เข้ามาในประเทศไทยได้เราจะทำอย่างไร
ขณะเดียวกันยังต้องการทราบจากรัฐบาลด้วยว่ายังมีแขกวีไอพีที่เป็นอภิสิทธิชนเข้ามาในประเทศไทยอีกจำนวนเท่าไหร่ และพักอาศัยอยู่ที่ใดบ้าง รวมถึงความชัดเจนของจำนวนผู้ที่เดินทางมาภายในเที่ยวบินเดียวกันกับครอบครัวอุปทูตซูดาน และตัวเลขที่มีการรายงานตามสื่อมวลชนว่าในเที่ยวบินดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อแล้วจำนวน 12 คน เหล่านี้มีข้อเท็จจริงอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล
ทั้งนี้ หากรัฐบาลได้รับบทเรียนจากความผิดพลาดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ครั้งนี้ก็น่าจะถอดบทเรียนได้ โดยเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนคลายความกังวลใจ และศึกษาความหละหลวมในเรื่องข้อต่อ วันนี้ความเดือดร้อนของประชาชนเกิดขึ้นแล้ว แต่กระบวนการรับผิดชอบของรัฐบาลเท่ากับศูนย์ นอกจากคำขอโทษที่ท่านนายกรัฐมนตรีมีให้กับประชาชน แล้วท่านจะเยียวยาประชาชนต่อไปอย่างไร
นายพิธากล่าวต่อว่า ตนเองต้องการเสนอแนะนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ 3 ข้อ ได้แก่ 1. รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาข้อผิดพลาด แก้ปัญหาด้วยความโปร่งใส และถอดบทเรียนไม่ให้เกิดความผิดพลาดในข้อต่ออีก 2. การแก้ปัญหาของนายกรัฐมนตรีต้องไม่เป็นลิงแก้แห ต้องแยกแยะให้ออกระหว่างสิทธิทางการทูต กับคนไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในอียิปต์และในประเทศต่างๆ ที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากประเทศไทย ต้องไม่ปล่อยให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศออกนอกสเตจควอรันทีน และต้องได้รับการกักตัว 14 วัน และ 3. ต้องการเสนอให้มีการเยียวยาประชาชน โดยกันงบประมาณจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในส่วนของวงเงินการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศจำนวน 4 แสนล้านบาท ด้วยการแยกงบประมาณจำนวน 1 แสนล้านบาท ไว้สำหรับเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากกรณีมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าไปภายในจังหวัดระยองในครั้งนี้ เนื่องจากมองว่า โครงการต่างๆ ที่เสนอของบประมาณเข้ามายังมีลักษณะเป็นเหมือนโครงการที่ไม่ได้รับงบประมาณปกติของปี 2564 จึงเขียนเสนอขอมาในงบเยียวยาโควิด-19 เหมือนกับว่า งบเยียวยาโควิดเป็นงบประมาณสำรองของปี 2564 ไม่ใช่งบประมาณเพื่อเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างแท้จริง ถือเป็นการใช้ภาษีอย่างฟุ่มเฟือย