xs
xsm
sm
md
lg

กสม.แถลงผลงาน 19 ปี ชี้ กทม.ละเมิดสิทธิมากสุด ร้องสิทธิผู้ต้องขังอันดับ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.กสม.ปาฐกถาพิเศษแถลงผลงาน 19 ปี กสม. พบพื้นที่ กทม.ละเมิดสิทธิมากสุด ส่วนใหญ่ร้องเรื่องสิทธิผู้ต้องขัง เป็นเรื่องสิทธิของผู้ต้องขัง หวังอนาคตตั้งสำนักงาน กสม.ในภูมิภาค ยันทำงานเต็มที่ก่อนส่งไม้ต่อ กสม.ชุดใหม่

วันนี้ (13 ก.ค.) นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สู่สองทศวรรษของ กสม.” และการแถลงสรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญของ กสม. เนื่องในโอกาสวันสถาปนาองค์กร กสม.ครบรอบ 19 ปี ตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่ กสม.ชุดนี้เข้ามารับหน้าที่เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2558 จนปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณา 2,731 เรื่อง ได้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิ้น 2,358 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 86.34 พบว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่น คือ กรุงเทพมหานคร ภูมิภาคที่มีการเกิดเหตุการณ์ละเมิดลำดับรองลงมาคือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนประเภทสิทธิที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 1,057 เรื่อง จากจำนวนเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 2,731 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 38.7 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเด็นสิทธิของผู้ต้องขัง เช่น การให้ได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว การถูกทำร้ายในระหว่างการจับกุม การซ้อมทรมาน ผลการดำเนินงานเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น ข้อเสนอแนะกรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอแนะกรณีพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กรณีการเปิดเผยประวัติ

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา การทำงานของ กสม.เน้นงาน 4 ด้าน คือ 1. การส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 2. การเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพตามหลักชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 3. การคุ้มครองสถานะบุคคลและสิทธิความเป็นพลเมือง และ 4. การมีส่วนร่วมใยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มีการทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานผลการตรวจสอบ หลายเรื่อง อาทิ ข้อเสนอแนะกรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กรณีการเปิดเผยประวัติการทำความผิดอาญาของเด็กและเยาวชน ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการแก้ไขระเบียบข้อบังคับให้ตรงกับข้อเสนอแนะของ กสม. รวมทั้ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ก็ได้ให้การคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการคุ้มครอง นอกจากนั้นยังมีเรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกายอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิผู้บริโภค กรณีการคัดค้านการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอต ของกรมวิชาการเกษตร หากไม่มีการแก้ปัญหานี้คนไทยจำนวนมากจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก เพราะการใช้พาราควอตส่งผลเสียต่อคนทั้งประเทศ

ส่วนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา กสม.ได้ดำเนินการไปหลายด้าน ทั้งการจัดสัมมนาทางวิชาการ การเสนอแนะให้รัฐบาลใช้การจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 5 ช่วงชั้น รวมทั้งมีการลงพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ตามโครงการ กสม.พบประชาชน การก่อตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานฯในทุกภูมิภาค นอกจากนั้น กสม.ยังได้มีข้อเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อที่จะจัดสรรหน่วยงาน สำนักงาน กสม.ในระดับภูมิภาค เพิ่มเติม เพราะ กสม.ไทยยังไม่มีสำนักงาน กสม.ในระดับภูมิภาค ต่างกับ กสม.หลายๆ ประเทศ ดังนั้นหวังว่าในอนาคต กสม.ประเทศไทยจะมีสำนักงาน กสม ในระดับภูมิภาค

นายวัสกล่าวอีกว่า ปัจจุบันการสรรหา กสม.ชุดถัดไปยังไม่แล้วเสร็จ กสม.ชุดนี้ต้องทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งในช่วงเวลาที่เหลือของ กสม.ชุดนี้ ก่อนจะถึงเวลาที่ กสม.ชุดใหม่จะเข้ามารับหน้าที่นั้น ขอยืนยันว่า กสม.ชุดปัจจุบันจะทำงานให้เต็มที่ ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อไปจนกว่าจะส่งไม้ต่อให้ กสม.ชุดใหม่




กำลังโหลดความคิดเห็น