กมธ.กฎหมาย ยื่นร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายต่อสภาฯ เพื่อให้มีการบรรจุเข้าสู่ที่ประชุม
วันนี้ (8 ก.ค.) นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ต่อ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ต่อไป
นายสิระกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อครั้งนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งกฎหมายนี้เป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจคุกคาม และมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชน หากรัฐบาลไม่ดำเนินการ ส่วนตัวจะติดตามสอบถามรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
“เราไม่มีสภาฯ มานาน ข้าราชการหรือหน่วยงานประจำจะออกกฎหมายเอง แต่เวลานี้มีสภาฯ ที่มาจากประชาชนแล้ว รัฐบาลจะต้องฟังเสียงของประชาชน ผมจะติดตามมเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด” ประธาน กมธ.กฎหมายฯ กล่าว
ด้านนายรังสิมันต์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเสร็จแล้วมี ส.ส.ลงชื่อ 100 คนจากทุกพรรคการเมือง เราจะเห็นได้ว่าสภาฯ ให้ความสำคัญต่อกฎหมายที่ต่อต้านการซ้อมทรมานและการทำให้คนสูญหาย นอกจากนี้ มีมติตั้งคณะทำงานเรื่องการกู้เงินจากสหกรณ์อาชีพครูที่จังหวัดอำนาจเจริญ และตั้งคณะทำงานกลั่นกรองเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ภายหลังมีประชาชนส่งเรื่องมายังคณะกรรมาธิการฯ จำนวนมาก ทำให้ต้องมีวิธีการกลั่นกรองเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน วันที่ 17 ก.ค. คณะ กมธ.จะไปหารือกับสภาทนายความเพื่อหารือร่วมกันในการทำงาน รวมทั้งจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกประวัติอาชญากรรมภายหลังที่คดีสิ้นสุดแล้ว
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า กฎหมายการป้องกันการซ้อมและทรมานถือเป็นเรื่องที่ต่างประเทศให้ความสำคัญมาก เมื่อประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้แล้วจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถูกเสนอโดยพรรคการเมืองทุกพรรคในสภาฯ ดังนั้น ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง แต่พรรคการเมืองก็ยังให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้