สตง. สอบย้อนหลัง 8 ปี ถึงรัฐบาลประยุทธ์ 1 ปี 2560 ไร้เงาเงินส่งคืน “กองทุนสิ่งแวดล้อม” 2.16 พันล้านบาท ที่จัดสรรตามมติ “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งด่วนเพื่อ “แก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ” ไปดำเนินการ เผยก้อนสุดท้าย จัดส่งงบคืนเฉพาะดอกเบี้ย เมื่อปี 2554 แค่ 1.98 แสนบาท ด้านหน่วยงานเจ้าของโครงการ อ้างกฎหมายไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติให้รับผิดชอบ ในการตั้งงบประมาณชดใช้ให้กับ “กองทุนสิ่งแวดล้อม”
วันนี้ (9 ก.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินงาน ตาม “โครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ” ย้อนหลัง 8 ปีงบประมาณ โดยเฉพาะการใช้เงิน “กองทุนสิ่งแวดล้อม” วงเงินกว่า 2,256.00 ล้านบาท โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชดใช้คืนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมเป็นรายปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เป็นต้นไปนั้น
ทั้งนี้ สตง. มีข้อสังเกตว่า การคืนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (กกวล.) จากการตรวจสอบงบแสดงฐานะการเงิน งบรายได้ และค่าใช้จ่ายของกองทุนสิ่งแวดล้อม สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2553 2554 2555 และ 2556 ซึ่งจัดทำโดยกรมบัญชีกลาง พบว่า บันทึกการจ่ายเงินอุดหนุนให้ ทส. เพื่อดำเนินโครงการเร่งด่วนฯ ในหมวดค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุน (รายจ่ายเพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม) โดยไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่กำหนดให้ ทส. ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชดใช้คืนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมเป็นรายปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เป็นต้นไปนั้น
ต่อมางบการเงินของ “กองทุนสิ่งแวดล้อม” ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ไว้ในหมายเหตุ ประกอบงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557 2558 และ 2559 แต่งบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในหมายเหตุประกอบงบการเงินอีกครั้ง
“จากการตรวจสอบการคืนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมของ ทส. พบว่า มีการคืนเงินเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารจำนวน 198,844.52 บาท สำหรับเงินค่าดำเนินโครงการเร่งด่วนฯ จำนวน 2,163,168,122.04 บาท ซึ่ง ทส. ต้องตั้งงบประมาณคืนกองทุนสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา แต่ปรากฏว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา 8 ปีงบประมาณ ทส.ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืน กองทุนสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด”
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สป.ทส.) ได้รับแจ้งจากสำนักงบประมาณว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติให้ สป.ทส. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้ให้กับกองทุนสิ่งแวดล้อม
และตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 22(4) กำหนดให้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นคราวๆ และพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 12 กำหนดว่า การจ่ายเงินเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อการใดๆ ให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย
ซึ่งการจะจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนสิ่งแวดล้อมเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลที่จะพิจารณาตามความจำเป็น โดยพิจารณาจากฐานะทางการเงินของกองทุนสิ่งแวดล้อม และกำลังเงินของแผ่นดินเพื่อเสนอจัดสรร ไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้กองทุนสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืนจากโครงการดังกล่าว การที่กองทุนสิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืนสำหรับโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ จากสำนักงบประมาณ ส่งผลกระทบให้ศักยภาพของกองทุนฯ ในการสนับสนุนเงินเพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมลดลง อีกทั้งการที่งบการเงินของกองทุนสิ่งแวดล้อม ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2552 ไว้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม
สตง.มีข้อเสนอแนะไปยัง สป.ทส.ว่า เพื่อให้กองทุนสิ่งแวดล้อม ได้รับการจัดสรรเงินคืนสำหรับโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ จำนวน 2,163,168,122.04 บาท เพื่อจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ นำไปดำเนินโครงการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
“ขอให้ปลัด ทส. พิจารณาสั่งการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำเสนอสภาพปัญหาที่ “กองทุนสิ่งแวดล้อม” ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืน จ านวน 2,163,168,122.04 บาท สำหรับ โครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ เพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาหาแนวทางเร่งรัดการคืนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กองทุนสิ่งแวดล้อมมีสภาพคล่องและสามารถจัดสรรเงินเพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมและมี ประสิทธิภาพ”
นอกจากนี้ สตง.ยังตรวจพบว่า ผลผลิตของโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ยังไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ โดยได้ส่งข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการแก้ไขแล้ว.
สำหรับ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดปัจจุบัน มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน