xs
xsm
sm
md
lg

สตง.พบ “นโยบายเที่ยวเมืองรอง รบ.ประยุทธ์ 1” งบกว่า 1.1 พันล. กระจุกตัวแค่บางจังหวัด เฉพาะ 3 จังหวัดท้าย นทท.แค่ 2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง.ตั้งข้อสังเกต “นโยบายท่องเที่ยวเมืองรอง รบ.ประยุทธ์ 1” กระจุกตัวแค่บางจังหวัด ที่มีรายได้สูง 11 จังหวัดแรกรวมกันเป็นจำนวนถึงร้อยละ 50.42 พร้อมยกตัวอย่าง 3 อันดับสุดท้าย “พิจิตร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด” อัตราการเพิ่มขึ้นจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ถึงร้อยละ 2 หวั่นนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยว งบประมาณกว่า 1.1 พันล้านบาท กระตุ้นเมืองรอง พ่วงเศรษฐกิจรากหญ้า ไม่ได้ประโยชน์จริง

วันนี้ (30 มิ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.เผยแพร่รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ของสำนักตรวจสอบการดำเนินงานที่ 5 โดยเป็นผลงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือ ททท. ได้รับจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติม จำนวน 785 ล้านบาท

เป็นไปตามงบประมาณภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การจัดสรรงบประมาณด้านการแก้ไขปัญหาความ ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ชาติที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน โดยปรับสัดส่วนการเดินทางของนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง จากสัดส่วน 70 : 30 เป็น 65 : 35

โดยมีเป้าหมายอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในเมืองรองร้อยละ 4.00 และอัตราการเติบโตของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวของชาวไทยและชาวต่างชาติในเมืองรอง ร้อยละ 10.00

ทั้งนี้ ททท.ได้รับจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2561 มีแนวคิดในการสร้างสมดุลการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่และกระจายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ไปยังจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยดำเนินการภายใต้แนวคิด “12 เมืองต้องห้าม...พลาด” และ “12 เมือง ต้องห้าม...พลาด Plus” ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนรวม 1,114.37 ล้านบาท

“ผลปรากฏว่า อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยว เมืองรองในรอบปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96 และอัตราการเติบโตของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.43 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของโครงการ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่ายังมีข้อเท็จจริงและข้อจำกัดที่สำคัญบางประการที่ทำให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชนยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์และไม่มีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ สตง.พบว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่ก่อให้เกิดการกระจายตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง

1.1 รายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับเป้าหมายของโครงการ แต่มีอัตราการเพิ่มกระจุกตัวในบางจังหวัด ในปี พ.ศ. 2561 จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง จำนวน 55 จังหวัด มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกันทั้งสิ้น 265,734.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22,909.88 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.43 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 10.00 แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้เพิ่มขึ้นสูงมากในบางจังหวัดเท่านั้น เช่น จ.บุรีรัมย์ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงเป็นอันดับที่ 1 ร้อยละ 64.49 ในขณะที่ ส่วนใหญ่จำนวน 42 จังหวัด หรือร้อยละ 76.36 ของจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง มีอัตราการเพิ่มขึ้น ของรายได้ในแต่ละจังหวัดไม่ถึงร้อยละ 10.00 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายในภาพรวม และแตกต่างจากจังหวัดบุรีรัมย์อย่างมาก

“อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองปี พ.ศ. 2561 กระจุกตัว อยู่ในกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองที่มีรายได้สูง 11 จังหวัดแรกรวมกันเป็นจำนวนถึงร้อยละ 50.42 ของรายได้จากการท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองทั้งหมด”

1.2 จำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นทุกจังหวัด แต่กระจุกตัวในบางจังหวัด การดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ปี พ.ศ. 2561 จำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น จำนวน 4,248,070 คน หรือมีอัตราการเติบโตร้อยละ 4.96 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้ร้อยละ 4.00

โดยพบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกจังหวัด แต่มีการกระจุกตัวในบางจังหวัด เช่น จ.บุรีรัมย์ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวน นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 30.50

“สำหรับจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลง ของจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยใน 3 อันดับสุดท้าย ได้แก่ จ.พิจิตร มหาสารคาม และร้อยเอ็ด มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ถึงร้อยละ 2.00”

จากการตรวจสอบพบว่า การเปลี่ยนแปลงของจำนวนรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นผลมาจากปัจจัยหลัก คือ การได้รับการประชาสัมพันธ์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในปี พ.ศ. 2561 จ.บุรีรัมย์ มีการจัดงาน Moto GP Thailand 2018 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวใน จ.บุรีรัมย์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

1.3 การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ไม่ก่อให้เกิดกำรกระจายตัวเพิ่มขึ้นของ จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง จากการตรวจสอบพบว่า ในปี พ.ศ. 2561 สัดส่วนการกระจายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง อยู่ที่ร้อยละ 70.31 : 29.69

และสัดส่วนการกระจายรายได้ระหว่างจังหวัดท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง อยู่ที่ร้อยละ 90.15 : 9.85 แสดงให้เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ยังคงกระจุกตัวอยู่ในจังหวัด ท่องเที่ยวเมืองหลักเช่นเดิมอย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ยังพบว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชนไม่มีการประเมินผลด้านการกระจายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ไปสู่ชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีโครงการ/กิจกรรม ที่เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนทั้งสิ้นจำนวน 9 โครงการ/กิจกรรม ในชุมชน 161 แห่ง

“ในจำนวนนี้มีการติดตามประเมินผลการกระจายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ไปสู่ชุมชนจำนวนเพียง 2 โครงการ/กิจกรรม ที่ดำเนินการในชุมชน 19 แห่ง เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังไม่ให้ความสำคัญกับการประเมินผลการดำเนินงานด้านการกระจายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ไปสู่ชุมชนในภาพรวม”

ทั้งนี้ ทำให้ไม่สามารถวัดผลการดำเนินงานการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และชุมชนว่าสามารถทำให้เกิดการกระจายของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ไปสู่ชุมชนซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้หรือไม่ เพียงใด ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขาดข้อมูลในการวางแผนเพื่อปรับปรุงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต่อไป ยังพบว่าแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยว ยังขาดความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองที่สุ่มตรวจสอบส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ

จากการสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชน ในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยว จำนวน 40 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว เมืองรอง 10 จังหวัด ที่สุ่มตรวจสอบพบว่า แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ยังขาดความพร้อมในการรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวด้านต่างๆ ได้แก่ การคมนาคมเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว และปัญหาด้านที่พักไม่สามารถจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย

ข้อจำกัดดังกล่าวอาจส่งผลต่อความยั่งยืนของการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม จากการตรวจสอบพบว่าการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นการจัดสรรเพื่อให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดำเนินการด้านอุปสงค์เท่านั้น และไม่สอดคล้องกับงบประมาณเพื่อดำเนินการด้านอุปทาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงจัดกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว เมืองรองตามศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยว จำแนกได้ 3 กลุ่ม ได้แก่

1) จังหวัดที่มีความพร้อมแบบเที่ยวได้และพักแรมได้ 2) จังหวัดที่ควรส่งเสริมให้เที่ยวได้และพักแรมได้ และ 3) จังหวัดที่ควรส่งเสริมให้เที่ยวแบบเช้าไป–เย็นกลับ เพราะเห็นว่าการส่งเสริมการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้น มิได้อาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์แต่เพียงเท่านั้น แต่ต้องประกอบด้วย ความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวในการรองรับนักท่องเที่ยว เพราะหากประชาสัมพันธ์แล้วมีนักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแต่ไม่ได้รับความประทับใจในบริการก็จะไม่เกิดการท่องเที่ยวซ้ำหรือการบอกต่อ และหากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเกินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวโดยขาดแผนการบริหารจัดการรองรับ ก็จะเกิดผลกระทบด้านลบต่อวิถีชีวิตของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้

นอกจากนี้ยังพบว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชนตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว เมืองรองทั้งหมด 55 จังหวัด ซึ่งไม่คำนึงถึงศักยภาพความพร้อมด้านการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดที่มีความแตกต่างกัน ประกอบกับเป็นนโยบายเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีระยะเวลาดำเนินการสั้น ทำให้ต้องเร่งเสนอแผนการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จึงไม่ได้มีการวางแผนการดำเนินงานส่งเสริม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพและความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวในการรองรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองควบคู่ไปกับการส่งเสริมทางด้านการตลาด อีกทั้งงบประมาณที่ได้รับจัดสรรกระจายไปเพื่อดำเนินกิจกรรมย่อยๆ ควบคู่ไปกับการดำเนินงานตาม แผนการปฏิบัติงานปกติประจำปีทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยวัดผลสำเร็จของการดำเนินงานได้ยาก

สตง.ยังให้ข้อเสนอแนะว่า เพื่อให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชนเกิดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ในการกระจายการเดินทางของนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง จึงมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. หารือร่วมกับปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอธิบดีกรมการท่องเที่ยวในฐานะที่ร่วมกันเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ ให้มีการกำหนดแผนการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองจากระดับนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางภูมิภาค และท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสมาพันธ์/สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ตลอดจนสถาบันการศึกษา เครือข่ายภาคประชาชน และชุมชน

เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านในการวางแผนการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในด้านอุปทานและอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกัน และต้องกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองให้ชัดเจน รวมถึงมีการจัดลำดับความสำคัญตามศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด

2. กำหนดแนวทางและรูปแบบในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมายอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถประเมินผลการดำเนินงานว่าสามารถก่อให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวและรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวแต่ละแหล่งโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด รวมทั้งรวบรวมปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานเพื่อวางแผนการปรับปรุงแก้ไขการพัฒนาส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ให้หารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการพิจารณาแนวทางการจัดเก็บข้อมูลและประเมินผลการดำเนินงานการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชนที่ชัดเจน น่าเชื่อถือ และอ้างอิงได้ เพื่อให้ทราบว่าผลจากการดำเนินงานสามารถกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้ไปสู่ชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด


กำลังโหลดความคิดเห็น