xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ชำแหละ! “โคบาลบูรพา” ยุค “บิ๊กตู่ 1” มูลค่า 1 หมื่นล้าน นโยบายเปลี่ยนนาเป็นที่เลี้ยงโคเนื้อ เป้า 1.2 แสนตัว เลี้ยงจริงแค่ 4.8 หมื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง.ชำแหละ! “โครงการโคบาลบูรพา” มูลค่า 1 หมื่นล้าน นโยบายด้านการเกษตรในรัฐบาลประยุทธ์ 1 พบเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ “เปลี่ยนนาข้าวเป็นพื้นที่เลี้ยงโคเนื้อ” ต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก เพียงร้อยละ 40.40 หลังตั้งเป้าให้เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ 1.2 แสนตัว สามารถเลี้ยงได้แค่ 48,485 ตัว แถมเกษตรกรที่ไม่ได้รับสินเชื่ออีกว่า 1,901 ราย จากโครงการทั้งหมดเพียง 57,990 ไร่

วันนี้ (8 ก.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินงาน “โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ” หรือ “โครงการโคบาลบูรพา” นโยบายด้านการเกษตรในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนโยบายเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน โดย สตง.ได้สรุปและมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ เพื่อดำเนินการแก้ไขแล้ว

สำหรับโครงการ “โคบาลบูรพา” ในอดีต มีวัตถุประสงค์เพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมหรือพื้นที่เหมาะสมน้อย (N, S3) เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืน และเพื่อวางโครงสร้างการพัฒนาผลิตโคเนื้อทั้งระบบแบบครบวงจร โดยกำหนดเป้าหมาย เกษตรกร 24,000 ราย (2,400 กลุ่ม) เลี้ยงโคเนื้อรายละ 5 แม่ รวมแม่โคเนื้อทั้งสิ้น 120,000 ตัว และเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนรายละ 5 ไร่ รวมทั้งสิ้น 120,000 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 วงเงินงบประมาณดำเนินโครงการทั้งสิ้น 10,907.40 ล้านบาท ประกอบด้วยวงเงิน สินเชื่อ 9,000 ล้านบาท และงบดำเนินงาน 1,907.40 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก และเกษตรกรบางส่วนที่เข้าร่วมโครงการมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่โครงการกำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อการลดพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวได้ต่ำกว่าเป้าหมาย รวมถึงมีความเสี่ยงที่การดำเนินงานจะไม่บรรลุผลสำเร็จของโครงการ”

ทั้งนี้ สตง.ได้เข้าสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและสังเกตการณ์เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 112 ราย มีการรวบรวมและศึกษาวิเคราะห์เอกสาร รวมถึงการสุ่มตรวจสอบในพื้นที่ดำเนินโครงการ 7 จังหวัด

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2561 พบว่า มีเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวและเลี้ยงโคเนื้อแม่พันธุ์ 9,697 ราย สามารถเลี้ยงโคเนื้อแม่พันธุ์ได้ 48,485 ตัว คิดเป็นร้อยละ 40.40 ของเป้าหมาย และมีเกษตรกรที่ไม่ได้รับสินเชื่อแต่ประสงค์จะขอใช้ประโยชน์จากแปลงหญ้า 1,901 ราย คิดเป็นพื้นที่ 9,505 ไร่ ทำให้โครงการทั้งหมดเพียง 57,990 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 48.33 ของเป้าหมายโครงการ ทำให้ข้อมูล กรมปศุสัตว์ เปรียบเทียบกับข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด มีความแตกต่างกัน รวมถึงข้อมูลจากผลการสังเกตการณ์เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีการปลูกพืชอาหารสัตว์รวมถึงเลี้ยงโคเนื้อแม่พันธุ์ต่ำกว่าข้อกำหนดของโครงการ ซึ่งแสดง ให้เห็นว่าผลการดำเนินงานที่แท้จริงต่ำกว่าข้อมูลผลการดำเนินงานที่กรมปศุสัตว์แจ้งให้ สตง.ทราบ

ขณะดียวกัน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กลับมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดที่ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในพื้นที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อย การสุ่ม 112 ราย พบว่า มีเกษตรกรเพียง 45 ราย ที่มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ N หรือ S3 และมีเกษตรกร เพียง 55 ราย ที่มีข้อมูลในทะเบียนเกษตรกรว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวระหว่าง 7-25 ไร่

ข้อมูลเกษตรกรทั้ง 112 ราย พบว่า บางรายไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่โครงการกำหนด เช่น มีเกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกพืชอาหารสัตว์ ณ วันที่สังเกตการณ์ 13 ราย ขณะที่เกษตรกร 20 ราย ปลูกพืชอาหารสัตว์ แต่ปลูกอยู่ในพื้นที่อื่นซึ่งไม่ใช่พื้นที่เข้าร่วมโครงการ แถมบางรายปลูกพืชอาหารสัตว์น้อยกว่า 5 ไร่ และส่วนใหญ่ไม่มีการจัดทำระบบน้ำแบบประหยัดในแปลงพืชอาหารสัตว์ ขณะที่บางส่วนไม่พบว่า มีแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียง

ยังพบว่า เกษตรกรจัดซื้อโคเนื้อแม่พันธุ์ไม่เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนด คือ มีราคาสูงกว่าราคาที่กำหนด รวมถึงมีการจัดซื้อโคเนื้อแม่พันธุ์ที่อายุเกินกว่าเกณฑ์ เกษตรกรบางรายเลี้ยงโคเนื้อแม่พันธุ์ไม่ครบตามระยะเวลาโครงการ หรือเกษตรกรไม่ได้เลี้ยงโคเนื้อแบบประณีต เป็นต้น

เช่นเดียวกับการตรจสอบกรณีโคเนื้อแม่พันธุ์ตามโครงการได้รับการติดเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ และบันทึกข้อมูลลงในระบบทะเบียนสัตว์แห่งชาติไม่ครบถ้วน

ทั้งนี้ สตง.ยังให้ข้อสังเกตจำนวน 4 ข้อต่อโครงการนี้ เช่น ข้อสังเกตที่ 1 เกษตรกรมีความเสี่ยงที่รายได้อาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ที่จะจำหน่ายลูกโคได้ราคาตัวละ 30,000 บาท หรือราคากิโลกรัมละ 120 บาท แต่จากตรวจสอบข้อมูลจากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และข้อมูลราคาจำหน่ายโคเนื้อที่เผยแพร่โดยกรมปศุสัตว์ พบว่า ราคาจำหน่ายโคเนื้อมีราคากิโลกรัมละ 92.59-98.85 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่กรมปศุสัตว์ คาดการณ์ตามโครงการ

“การคาดการณ์รายได้ที่ได้รับจากมูลโค จากการสัมภาษณ์เกษตรกร 112 ราย มีเพียง 22 รายที่จำหน่ายมูลโค ขณะที่เกษตรกร 74 ราย นำมูลโคไปใส่แปลงปลูกพืชของตนเอง และมีเกษตรกรอีก 12 ราย ไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับมูลโคที่ได้จากการเลี้ยงโคเนื้อตามโครงการ”

เช่นเดียวกับการคาดการณ์ปริมาณลูกโคที่เกิดจากแม่พันธุ์ที่จะให้ผลผลิตในอัตราร้อยละ 80 หรือมีอัตราติดลูกสูง แต่จากการสุ่มตรวจสอบพบว่า โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเลี้ยงแบบประณีตจึงมีความเสี่ยงที่อาจทำให้แม่โคให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกษตรกรตัดสินใจผิดพลาดและประสบปัญหาขาดทุน เช่นเดียวกับข้อสังเกตที่ 2 ที่พบว่าองค์กรเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังไม่มีการดำเนินกิจกรรมกลุ่มและไม่มีการเชื่อมโยง ข้อสังเกตที่ 3 องค์กรเกษตรกรไม่มีการควบคุมกำกับดูแลโคเนื้อตามโครงการอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น