“พัชรินทร์” สนับสนุนการจัดงบประมาณเพิ่มเติม ให้ “ก.ยุติธรรม” เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ไม่ให้กลับไปทำผิดซ้ำ
วันนี้ (2 ก.ค. 63) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ได้ใช้สิทธิอภิปรายถึงความปลอดภัยในการดำรงชีวิตในสังคม ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นข่าวเรื่องของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุกคามทางเพศ การลักขโมย วิ่งชิงปล้น การประทุษร้าย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการสูญเสียทางด้านทรัพย์สินแล้ว ยังร้ายแรงถึงสูญเสียชีวิต ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
น.ส.พัชรินทร์ กล่าวต่อว่า แม้กระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการจัดการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชนโดยตรง แต่ในอีกด้านหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ในขั้นตอนสุดท้าย คือ การคืนคนดีให้กับสังคม หากไม่มีกระบวนการนี้ มีเพียงการกักขังผู้กระทำความผิดไว้ ก็จะเป็นเพียงการกักขังผู้กระทำความผิดไว้ระยะหนึ่ง เมื่อถึงเวลาปล่อยตัวออกมาก็อาจกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก
นางสาวพัชรินทร์ อภิปรายว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2556 ในแต่ละปีมีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวแล้วกลับมากระทำความผิดซ้ำ ในช่วง 3 ปีแรก เฉลี่ยประมาณปีละร้อย 34 ของผู้ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด เป็นตัวเลขที่สูงและน่ากังวลเป็นอย่างมาก ทำให้เราต้องมาทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการนี้ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะสามารถลดการกระทำผิดซ้ำได้
นอกจากนี้ ในระหว่างคุมขังจะมีการประเมิน จำแนกผู้ต้องขัง เข้าร่วมโปรแกรมปรับนิสัยที่เรียกว่าการบำบัดหรือการแก้ไขฟื้นฟู ในการประเมินจะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในด้านการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา แต่ว่าหน่วยงานยังขาดนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยาเป็นอย่างมาก โดยนักสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศมีเพียงประมาณ 160 คน ส่วนนักจิตวิทยาทั่วประเทศมีเพียง 20 กว่าคน ขณะที่ตัวเลขผู้ต้องขังมีมากถึง 3.8 แสนคน เท่ากับว่า นักสังคมสงเคราะห์ 1 คน ต้องรับผิดชอบผู้ต้องขัง 2 พันคน นักจิตวิทยา 1 คน ต้องรับผิดขอบผู้ต้องขัง 1 หมื่นคน ทำให้การจำแนกผู้ต้องขังเกิดประสิทธิภาพที่ไม่ดีเท่าที่ควร
ขณะเดียวกัน งบประมาณในการขับเคลื่อนด้านการแก้ไขนิสัยของผู้ต้องขังมีไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบประมาณทั้งหมดที่กรมรราชทัณฑ์ได้รับ และยังถูกตัดงบประมาณที่สำคัญลงไปในทุกปี โดยเฉพาะการจัดโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดก่อนการปล่อยตัว โดยงบประมาณลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2561 จาก 6.625 ล้านบาท ลงลงไปเกินครึ่ง เหลือ 3.12 ล้านบาท ล่าสุดในปีงบประมาณที่ผ่านมาเหลือเพียง 1.919 ล้านบาทเท่านั้น
“จึงขอสนับสนุนการจัดงบประมาณเพิ่มเติมให้กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะในส่วนการพัฒนาพฤตินิสัย รวมถึงส่วนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่จะช่วยแก้ไขฟื้นฟู และบำบัดเยาวชนที่เคยกระทำความผิด” น.ส.พัชรินทร์ กล่าว