เงินกู้ 4 แสนล้าน รอบแรกเคาะแล้ว! 213 โครงการ ยอดทะลุ 101,482.29 ล้าน จ่อตัดเหลือ 7-8 หมื่นล้าน สภาพัฒน์วาดฝันเปิดกู้แบบไหนถึงผ่าน 5 แผนงานผ่านรอบแรก ชู “โคกหนองนาโมเดล” 2.4 แสนไร่ จ้าง 70,343 คน ลงตำบลละ 2 คน เก็บสารพัดข้อมูลบิ๊กดาต้า-จ้าง 15,548 คน ดูแลคนชราในชุมชน จ้าง 40,285 คน ช่วยแก้ปัญหาหมอกควัน/ดับไฟป่า ดันนิวนอร์มัล 7.9 หมื่นกองทุนหมู่บ้าน ลงแห่งละ 2 แสนบาท คาดร้อยละ 25 อยู่รอดจากความยากลำบาก ระดับจังหวัดได้งบ 924 ล้าน คาดชง ครม.8 ก.ค.
วันนี้ (26 มิ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ได้นำคณะแถลงชี้แจงความก้าวหน้าของการวิเคราะห์โครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามแผนงานหรือโครงการที่ 3 ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 400,000 ล้านบาท
เลขาธิการสภาพัฒน์เปิดกรอบแนวคิดแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม (400,000 ล้านบาท) โดยย้ำว่าโครงการแบบไหนมีโอกาสได้ใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท
ในโครงการที่เสนอมารอบแรก พบว่า มีโครงการที่ผ่านการคัดกรองเบื้องต้น และอยู่ระหว่างการคัดกรอง จำนวน 213 โครงการ วงเงิน 101,482.29 ล้านบาท (ณ วันที่ 23 มิ.ย.) ที่หลายหน่วยงานเสนอมาทั้งสิ้น 46,411 โครงการ ขอรับจัดสรรงบ 1,448,474 ล้านบาท
ที่ผ่านรอบแรกเป็นแผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 129 โครงการ 58,069.71 ล้านบาท แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 77 โครงการ 20,989.81 ล้านบาท และแผนงานกระตุ้นอุปโภคบริโภค และกระตุ้นการทอ่งเที่ยว 7 โครงการ 22,422.77 ล้านบาท
สำหรับโครงการอะไรมีโอกาสได้ใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ตามการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก เพื่อดำเนินการทั่วประเทศ ประกอบด้วย
1. โครงการด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้แก่ โครงการโคกหนองนาโมเดล และโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่จะลงไปในตำบลต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่ 240,021 ไร่ คาดว่าสามารถสร้างงานได้ 41,206 ราย มีพื้นที่เก็บน้ำเพิ่ม 867 ลบ.ม. และมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 43,799 ไร่
2. โครงการด้านการจ้างงาน คาดจะจ้างงานได้ 70,343 คน แบ่งเป็น จ้างงาน 14,510 คน เข้าไปเก็บข้อมูล 2 คน/ตำบล เป็นฐานข้อมูลชุมชนที่ยังไม่สมบูรณ์ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านระบบฐานข้อมูลชุมชนเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชน เช่น โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ, จ้างงาน 15,548 คน ผ่านการโครงการจ้างอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น “ชำนาญการพิเศษ” ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงกว่า 710,518 คน ให้ได้รับการดูแล, จ้างงาน 40,285 คน ผ่านโครงการการพัฒนาป่าไม้ สร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน หรือโครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ในชุมชน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว 170,000 ไร่ เช่น ปัญหาหมอกควันหรือดับไฟป่า
3. โครงการผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้ประชาชนคิดโครงการขึ้นมาเอง “นิวนอร์มัล” และจัดสรรให้กองทุน 79,604 กองทุนๆ ละ 200,000 บาท ในกรอบ 5 ด้าน ได้แก่ ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มยกระดับสินค้าบริการ สร้างอาชีพใหม่ในชุมชน ด้านการขนส่งกระจายสินค้า และการตลาด คาดจะมีการจ้างงาน จนท.กองทุนหมู่บ้าน 238,812 คน (หมู่บ้านละ 3 คน) เช่น โครงการหมู่บ้านสมุนไพร ก่องส้รางโรงงานแปรรูปยางพารา สร้างรีสอร์ตท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
4. โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล 7,255 ตำบล แต่จะเข้าไประยะแรก 3,000 ตำบล ผ่าน “สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่” ร่วมกับราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จ้างงานบัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาในระบบ 60,000 คนเป็นพี่เลี้ยง ให้มีงานทำใน 3,000 ตำบลๆ ละ 20 คน ทำหน้าที่หลักในการช่วยเหลือชุมชนบูรณาการโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ที่เข้ามาในชุมชน ให้ตอบสนองความต้องการของชุมชน อาทิ ส่งเสริมเอสเอ็มอี โอทอป หรือท่องเที่ยวชุมชน
“คาดว่าร้อยละ 25 ของตำบลจะพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของตำบลจะยกระดับความพอเพียง และ ร้อยละ 25 จะอยู่รอดจากความยากลำบากและมีมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง”
5. โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และระบบโลจิสติกส์ ที่ชาวบ้านคิดทั้งแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว หรือแพลตฟอร์มด้านสินค้า ส่งของผ่านระดับพื้นที่
อีกด้านสำหรับการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตที่จะทำกันทั้งประเทศมีแผนการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ แผนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ แผนการพัฒนาการท่องเที่ยว ภายใต้กรอบเงินกู้ 4 แสนล้าน
เฉพาะ “แผนการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่” เช่น โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตร สมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) โครงการผลิตพืชพันธุ์ดีสนับสนุนให้กับ เกษตรกรและแรงงานคืนถิ่น หรือโครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน เป็นต้น
“คาดว่าจะมีการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในแปลงใหญ่ จำนวน 262,500 ราย พื้นที่ 5,003,250 ไร่, ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ร้อยละ 24.8 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 51.6 ล้านบาท ผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.37, สร้างมูลค่าเพิ่มจากแปลงเกษตรสมัยใหม่ ไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี หรือพื้นที่นาข้าวที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ ข้าวคุณภาพดี ประมาณ 1,500,000 ไร่”
“แผนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ” คาดว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมกว่า 40,000 ราย สามารถเพิ่มยอดขายได้กว่าร้อยละ 10 ลดต้นทุนได้มากกว่า 1.2 แสนล้านบาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
“แผนการพัฒนาการท่องเที่ยว” คาดว่าพื้นที่ท่องเที่ยว ได้รับการพัฒนาและเตรียมความ พร้อมสู่การรองรับนักท่องเที่ยว ไม่ต่ำกว่า 7 พื้นที่ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมสู่การรองรับนักท่องเที่ยว ไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย แรงงานด้านการท่องเที่ยวได้รับการจ้างงานและพัฒนา ไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย เพื่อมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณาโครงการให้แล้วเสร็จในวันที่ 1 ก.ค. โดยอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และสำนักงบประมาณ อาจจะตัดลดงบสารพัดโครงการ ก่อนเสนอนายกรัฐมนตรี ให้เหลือ 7-8 หมื่นล้าน ก่อนส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อบรรจุวาระเสนอเข้า ครม. ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ต่อไป โดยแผนงานที่เกี่ยวเนื่องกับกระทรวง เช่น การจ้างงานจะเสนอกระทรวงเพื่อรับทราบต่อไป
สภาพัฒน์ยังเปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการใช้เวลาถึง 02.00 น.เมื่อดึกวานนี้ สำหรับโครงการที่ตกรอบหลายโครงการ ตัวเงินลงไปสนองบริษัทผู้รับเหมา จ้างที่ปรึกษา หรือจัดอีเวนต์มากเกินไป แต่โครงการรอบแรกที่ตกไป อจจะมีการนำมาเสนอใหม่ สำหรับโครงการระดับจังหวัดที่เห็นชอบไปกว่า 924 ล้านบาท ที่เสนอมาชัดเจน แต่ที่ตกไปจะมีการพิจารณาในรอบต่อไปอีกครั้ง