xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ชี้โลกยังไม่ฟื้น ส่งออกฝืด-ท่องเที่ยวฟุบ เร่งอัดเงินฟื้นเศรษฐกิจฐานราก 3.15 แสนล้านผ่าน ธ.ก.ส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รองฯ สมคิด” ยอมรับจะมีบางธุรกิจที่ทยอยปิดตัวลงในเดือน ก.ค.นี้ เหตุโลกยังไม่ฟื้น ท่องเที่ยว-ส่งออกยังทำได้ยาก สั่งเดินหน้าใช้เศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย หวังปรับเศรษฐกิจประเทศให้เข้มแข็ง เติบโตจากภายใน เปลี่ยนพื้นดินให้เป็นผลผลิตที่มีมูลค่าขึ้นมา เพื่อใช้เลี้ยงดูคนไทยทั้งประเทศ ด้าน “ผู้จัดการ ธ.ก.ส.” เผยรัฐบาลอัดฉีดงบประมาณ 3.15 แสนล้านบาท สู่โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย โดยแบ่งเป็นงบฯ สนับสนุนโดยตรงกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนจาก ธ.ก.ส. อีก 2.6 แสนล้านบาท เร่งฟื้นฟูอาชีพและรายได้ให้คนตกงานที่ต้องกลับสู่บ้านเกิดหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการเป็นประธานในการเปิดตัวโครงการ “เศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย” และโครงการ “New Gen Hug บ้านเกิด” ว่า หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจำต้องหยุดลง 1 ไตรมาสแล้ว จะถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ว่า เมื่อโลกยังไม่ดีขึ้น การจะผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็วก็ทำไม่ได้ แต่จะไม่เปิดเลยก็ไม่ได้ เนื่องจากคนที่ไม่มีอันจะกินต่างก็ยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องผ่อนปรนอย่างมีเหตุมีผล อย่างระมัดระวัง เนื่องจากทุกๆ อย่างต้องมีจุดสมดุล

วันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทน์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้คิดทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ภาคเกษตรของไทยมีความเข้มแข็ง รวมทั้งต้องช่วยสนับสนุนให้ผู้ที่ต้องตกงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จนต้องอพยพกลับสู่บ้านเกิดสามารถมีงานทำเพื่อที่จะมีรายได้ที่พออยู่ได้ โดยในเดือน ม.ค. รัฐบาลได้หารือถึงความจำเป็นที่จะต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผกระทบจากโควิด-19 โดยการออก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่ในช่วงครึ่งปีหลังไทยต้องใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ ไปกับการเยียวยาด้วย ดังนั้น จึงได้มีโครงการที่เรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างไทยขึ้นมา

แต่อย่างไรก็ตาม นายสมคิด ย้ำว่า ความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากจิตใจคนไทยได้ยึดถือแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเสมอมาอยู่แล้ว เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เติบโตจากภายใน เปลี่ยนพื้นดินให้เป็นผลผลิตที่มีมูลค่าขึ้นมา เพื่อใช้เลี้ยงดูคนไทยทั้งประเทศ โดยการส่งออกนั้นจะเป็นเพียงผลพลอยได้ในบั้นปลาย แต่เนื่องจากกระบวนการในช่วงระยะเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่ได้เน้นในส่วนแรกมากเท่าที่ควร เนื่องจากไปเน้นเรื่องการส่งออกมากมายเป็นพิเศษ

ดังนั้น จึงได้เกิดความไม่สมดุล จากที่ภายในประเทศไม่เข้มแข็ง ภายนอกประเทศก็เข้ามา ไทยจึงเป็นแค่เพียงผู้ที่มาขอส่วนบุญเพียงเสี้ยวเดียวจากกระบวนการผลิตในประเทศเท่านั้น แต่ในจังหวะแบบนี้ รัฐบาลเห็นว่าเป็นโอกาสของคนไทย เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยมีงบประมาณมากมายที่จะมาช่วยทำสิ่งเหล่านี้ และในวันนี้ประเทศไทยก็ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องเดินไปในแนวทางนี้เท่านั้น เนื่องจากคน 2 ล้านคนต้องตกงาน เราก็ต้องถามว่าพวกเขาจะเอาอะไรกิน นี่คือคำถามที่ใหญ่มาก

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ถามคำถามนี้กันมาตั้งแต่เดือน ม.ค. จึงเกิดความคิดให้กระทรวงทุกกระทรวง หน่วยงานทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชนบททำโครงการขึ้นมา โดยจะมีคณะกรรมการกลางมาทำหน้าที่กลั่นกรองโครงการเพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเร่งรัดให้เริ่มต้นดำเนินการในเดือน มิ.ย.63 เนื่องจากในเดือน ก.ค. จะเริ่มต้นมีธุรกิจที่ต้องทยอยปิดตัวลง เนื่องจากการฟื้นตัวของโลกยังไม่ดี การส่งออกและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังไม่มี และโรงงานอุตสาหกรรมก็ยังไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ ดังนั้นในเดือน มิ.ย.-ก.ค. จะเป็นเดือนที่เริ่มโครงการ

โดย ธ.ก.ส. ได้เริ่มคิดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะทำให้เกษตรกรของไทยลืมตาอ้าปากได้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวนี้ต้องการที่จะสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่อพยพกลับสู่ถิ่นฐานและไม่มีงานทำนั้นสามารถทางเลือกในการสร้างอนาคตของตนเองได้ แทนที่จะเป็นแรงงานในเมืองและสร้างการส่งออกแค่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม นายสมคิดยังย้ำด้วยว่า ธ.ก.ส.จะต้องช่วยเหลือด้วยการสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.01% ให้แก่การรวมกลุ่มเหล่านี้ เพื่อให้แรงงานที่กลับเข้าสู่ภาคการเกษตรได้มีแหล่งทุนในการพัฒนาภาคการเกษตร ให้เลี้ยงชีพต่อไปให้ได้

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรนั้น ไม่ใช่เน้นที่ตัวบุคคล แต่ต้องพยายามเน้นการรวมกลุ่ม เช่น กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้เกษตกรเป็นผู้ประกอบการ สามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจและสร้างตลาดของตนเองได้ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรเพื่อการพัฒนา ซึ่งจะมีความสอดคล้องตามคำสั่งของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทน์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ขอให้ทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้เกษตกรไทยมีความเช้มแข็ง


ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังมาตรการเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19” โดยย้ำว่า ธ.ก.ส. จะมีบทบาทอย่างมากในเรื่องของการฟื้นฟู เนื่องจากทำงานกับเกษตรกร ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยก็ยังหนีไม่พ้นว่าโดยพื้นฐานยังเป็นเศรษฐกิจการเกษตร รวมทั้ง ธ.ก.ส. ยังมีความพร้อมที่จะดำเนินการ โดยพิจารณาได้จากสภาพคล่องของธนาคารฯ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้การสนับสนุนโดยการอนุมัติให้มีการเพิ่มทุนกว่า 2 หมื่นล้านในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า โดย ธ.ก.ส. ยังได้รับการอนุมัติให้ออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) เพื่อระดมทุนให้ ธ.ก.ส. สามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วย

รวมทั้ง ธ.ก.ส. ยังมีการปรับโครงสร้างภายใน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการตกลงกันแล้วว่าลูกค้าของ ธ.ก.ส. จะไม่ใช่แค่ลูกค้าสินเชื่อของธนาคารฯ แต่จะหมายถึงคนไทยที่ ธ.ก.ส. จะร่วมทำงานสนับสนุนและช่วยกันพัฒนาในระดับพื้นที่ต่างๆ สินเชื่อแม้จะเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่จะไปพร้อมกับความช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องอื่นๆ ด้วย ดังนั้น คนของ ธ.ก.ส. จะทำงานในมิติต่างๆ ที่เน้นการเชื่อมโยง และต่อเนื่องถึงการยึดโยงกับเครือข่ายภาคีอื่นๆ รวมถึง หน่วยงานภายในกระทรวงการคลัง ภาคเอกชน ผู้นำในท้องถิ่น เพื่อช่วยกันทำเรื่องของการฟื้นฟู ซึ่งธ.ก.ส. มีแผนงานยุทธศาสตร์ที่จะเดินหน้าในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งนี้ เรื่องที่ตนจะให้ความสำคัญอย่างมากคือเรื่องการค้นหา New Gen หรือคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นหัวใจหากไทยต้องการปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจเพื่อทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


ด้าน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้กล่าวรายงานและแถลงข้อมูลการจัดทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย เพื่อส่งเสริมความเช้มแข็งให้แก่ภาคชนบท โดยระบุว่า ธก.ส.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมอีก 55,000 ล้านบาท และมีสินเชื่อสนับสนุนโครงการอีกประมาณ 260,000 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการสำคัญ 3 โครงการคือ 1.โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 “พึ่งตนเอง”

ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณโดยตรง จำนวน 10,720 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกร จำนวน 300,000 ราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว (459 มีกินมีใช้) การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีความเชื่อมั่นในวิถีการเกษตรแบบใหม่ จำนวน 200,000 ราย มาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการเกษตรทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การพัฒนาและยกระดับศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ สู่เกษตรกรและคนในชนบท จำนวน 1,200 แห่งทั่วประเทศ และพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ ผ่านระบบ E-learning พร้อมทั้งการศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพวงเงิน 10,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิดวงเงิน 60,000 ล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท

2.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 2 “พึ่งพากันและกัน” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง สำหรับนำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ระบบน้ำ โรงเรือน เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน และไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจสร้างไทยวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SMEเกษตรวงเงิน 40,000 ล้านบาท


และ 3.โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 3 “เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 21,675 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 7,255 แห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การเชื่อมโยงการตลาด การจัดการขนส่ง การให้บริการทางการเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท รวมถึงการนำไปพัฒนาความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้นำสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยวงเงิน 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME เกษตรวงเงิน 10,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น