xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.งบโควิด-19 ประชุมหลัง “ไพบูลย์” นั่งประธาน “พิธา” เสนอขยายเวลาทำงานมากกว่า 120 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.งบโควิด-19 ประชุมหลัง “ไพบูลย์” นั่งประธาน ขณะที่ “กนก" ย้ำกรอบการทำงาน ไม่ใช่แต่วิจารณ์อย่างเดียว ด้าน “พิธา” เสนอขยายเวลาทำงานมากกว่า 120 วัน

วันนี้ (25 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลังจากมีมติเลือกนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ว่าตนจะเสนอแนวทาง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. นอกจากงบประมาณจาก พ.ร.ก.3 ฉบับแล้ว ต้องมีการตรวจสอบงบกลางที่ได้รับการโอนจากงบประมาณปี 2563 ด้วย 2. นอกจากการตรวจสอบงบประมาณแล้ว ต้องติดตามตรวจสอบมาตรการด้วย เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรการหลายอย่างที่ยังไม่คลายล็อก และ 3. การทำงานของ กมธ.ควรมีอายุมากกว่า 120 วัน เนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงินให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564

ส่วนกรณีที่นายไพบูลย์ได้รับเลือกเป็นประธาน กมธ.นั้น นายพิธากล่าวว่า ไม่ว่าประธานจะเป็นใคร ทุกอย่างมีกติกามีข้อบังคับ จริงๆ แล้วถ้าฝ่ายค้านเป็นประธานจะสง่างามกว่าเพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้ฝ่ายค้านก็ต้องทำงานให้หนักมากขึ้นในการตรวจสอบซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ด้วย

เมื่อถามกรณีที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้กรณีวิจารณ์เกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐนั้น นายพิธากล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่เห็นข่าวดังกล่าว แต่ที่ตนแสดงความเห็นไปเนื่องจากเป็นผู้แทนประชาชน เพราะสิ่งที่ประชาชนเห็นเพียงแค่การรักษาอำนาจมากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนซึ่งตนก็ทำหน้าที่ของตน ส่วน น.ส.ปารีณาก็คงทำหน้าที่ของ น.ส.ปารีณา

ขณะที่นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ.เสนอกรอบการทำงาน เรื่องสำคัญ 3 เรื่องคือ 1. ต้องพิจารณาเกณฑ์การอนุมัติใช้เงินใน พ.ร.ก.แต่ละฉบับ เพื่อให้โครงการเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 2. ต้องมีการประเมินผลที่ชัดเจน เกิดประโยชน์จริงหรือตรงกับกลุ่มคนที่ควรจะได้รับหรือไม่ ซึ่งระบบราชการไทยมักจะไม่มีการประเมินผล มีแต่การใช้งบประมาณให้หมด และต้องตอบให้ได้ว่าเป้าหมายคืออะไร และ 3. การพิจารณาโครงการต่างๆ กมธ.ควรมีคำแนะนำ ไม่ใช่แค่วิจารณ์อย่างเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น