ประธานวิปฝ่ายค้านชี้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ร่าง พ.ร.บ.ที่ข้าราชการอยากทำ แต่ประชาชนไม่ได้อยากได้ เผยฝ่ายค้านติดใจงบศาล รธน.ที่ไม่มี กม.รองรับ คาดเข้าวาระ 2-3 ประมาณเดือนก.ย.
วันนี้ (25 มิ.ย.) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสรคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่จะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค.นี้ ว่า ส.ส.ฝ่ายค้านมีผู้แสดงเจตจำนงอภิปรายกว่า 120 คน และอาจมีเพิ่มหลังจากนี้ ทั้งนี้ ยอมรับว่ามี ส.ส.หลายคนถามถึงการจัดสรรงบประมาณให้ศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งที่ผ่านมายังคงติดใจการรับงบประมาณของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะมีสมาชิกหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปราย ขณะเดียวกัน เห็นว่าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 64 ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน แม้จะให้ข้าราชการจัดทำงบประมาณมาแต่ก็ไม่ได้สนองต่อประชาชน จึงเป็นการจัดงบประมาณที่ข้าราชการอยากทำ แต่ประชาชนไม่ได้อยากได้ นอกจากนี้ยังติดใจเรื่องการจัดทำงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะการใช้งบประมาณจาก 3 ก้อนที่ใช้ดำเนินการซ้ำซ้อนไม่สัมพันธ์กัน คือ งบประมาณตาม พ.ร.บ.โอนงบฯ 2563 งบตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ64 แม้จะเชิญสำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้ มาชี้แจงแล้วแต่ยังไม่กระจ่างชัด
นายสุทินกล่าวต่อว่า จากการหารือกับประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แล้ว กำหนดตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 64 จำนวน 72 คน มีกรอบเวลาศึกษา 80-90 วัน โดยจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ช่วงประมาณเดือน ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเป็นกรอบเวลาที่มีข้อจำกัด จึงอยากฝากต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือนักการเมืองรุ่นต่อไปว่าขอให้ให้เวลาในการอภิปรายและพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯที่มากขึ้นกว่านี้
นายสุทินกล่าวต่อว่า ที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าโลกเปลี่ยนไปมาก ส.ส.ทุกคนต้องปรับตัวตามโลก แต่รัฐบาลกลับไม่ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณ และยังมีงบประมาณในส่วนของงบบูรณาการให้จังหวัดที่สมาชิกยังคงติดใจ เพราะงบ 64 เป็นงบที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 62 แต่มีปรับเปลี่ยนตอนมีโควิด-19 เข้ามา และยังติดใจงบบูรณาการ งบจังหวัด ทีาเดิมจัดสรรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการ แต่ก็จัดงบมาไว้ที่ส่วนกลางเหใืน ถือเป็นความซ้ำซ้อนรหว่างงบกลางกับงบจังหวัด เช่น ทำถนนหลวง เป็นต้น