xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงหากเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทบกระบวนการกักตัวของ State Quarantine

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
“วิษณุ” รับหากเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบกระบวนการกักตัวใน 3 ประเด็น ไม่แน่ใจ จนท.จะสนธิกำลังได้เหมือนเดิม

วันนี้ (24 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อหรือไม่ว่า พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา จะพิจารณาร่วมกับ 4 ฝ่าย สาธารณสุข เศรษฐกิจ ปกครอง และฝ่ายมั่นคง จากนั้นจะนำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม นายกฯก็จะพิจารณาและนำเข้าที่ประชุม ศบค.วันที่ 29 มิ.ย. และนำเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 30 มิ.ย. ส่วนที่มีความกังวลว่าหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วจะส่งผลกระทบกับศูนย์กักกันตัวของรัฐนั้นก็มีส่วนบ้าง ยอมรับว่ามีผลกระทบจริงๆ ใน 3 ประเด็น คืออำนาจในการกักตัว สถานที่ที่ใช้ในการกักตัว และค่าใช้จ่าย เพราะตอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเราจะคุมใน 3 เรื่องนี้ได้ แต่ถ้าไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ต้องไปดูว่าสั่งการเรื่องต่างๆ ได้หรือไม่ ถ้าพูดก็คือได้ แต่สั่งได้เป็นคนๆ เช่น สงสัยใครก็ดึงไปวัดไข้เป็นคนๆ แต่ถ้าจะสั่งการในภาพรวมมันยาก หากไปสั่งแล้วมีการขัดขืนคัดค้านก็จะไปถึงศาล แต่ถ้าอยู่ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่ต้องไปที่ศาล ส่วนประเด็นเรื่องสถานที่หากในอนาคตมีเครื่องบินมาลงจำนวนมาก เช่น มีคนลงมา 200 กว่าคนจะทำอย่างไร และจะพาไปไหน และเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลคนเข้าสถานกักกัน 14 วัน คนละ 3 หมื่นกว่าบาท หากต้องรักษาต้องใช้ค่าใช้จ่ายคนละ 1 ล้าน ใครจะรับผิดชอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อดำเนินการแทนได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้เราใช้ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อควบคู่กันไป ลำพังใช้แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ เพราะไม่ได้ออกแบบไว้ใช้สำหรับป้องกันโรคติดต่อโดยเฉพาะ แต่ใช้สำหรับภัยพิบัติ และได้สอบถามไปยังอธิบดีกรมควบคุมโรคว่าภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พนักงานตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะบูรณาการกันได้อย่างไร เพราะตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อให้อำนาจ รมว.สาธารณสุขแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรค ที่แล้วมาแต่งตั้งไปแล้วหลายหมื่นคน ทุกคนให้ความร่วมมือดีเพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้าไปกำกับ เขาไม่ได้กลัว รมว.สาธารณสุข แต่กลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่นายกฯ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจกำกับตามกฎหมายดังกล่าว หากเลิกยกเลิกไป เหลือเพียง รมว.สาธารณสุขเป็นผู้สั่งการ กระบวนการที่ต้องใช้คนเยอะมาก เช่น การตั้งด่าน ที่ ผบ.ทสส.ระบุว่า ใช้คนถึง 4 หมื่นคน หรือแม้แต่การรับเครื่องบิน 1 ลำก็จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมาก คำถามคือ ต่อไปจะสนธิกำลังกันได้อย่างไร เพราะวันนี้เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าทุกวันนี้ที่สนธิกำลังกันเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปก็คิดว่าคงทำได้ แต่จะได้ความร่วมมือหรือไม่นั้นตนไม่รู้

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอแก้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมองว่ามีการรวบอำนาจไว้ที่นายกฯ มากเกินไป นายวิษณุกล่าวว่า การแก้กฎหมายเป็นสิทธิของ ส.ส. แต่ตนไม่คิดอะไรในเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น