xs
xsm
sm
md
lg

เผยบันได3ขั้นเปิดประเทศ-Travel Bubbleรอลุ้นต้นส.ค.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- ศบค.เผย 3 ขั้นผ่อนคลาย "ต่างชาติ" เข้าไทย ขั้นแรกเริ่มทันที และเริ่ม1 ก.ค. เป็นนักธุรกิจ แรงงานฝีมือ ต่างด้าว ครู นศ. กักตัว 14 วัน ส่วนนักธุรกิจ/แขกรัฐบาล ที่มาระยะสั้น มีทีมแพทย์ติดตามสังเกตอาการ ขั้นสอง เริ่ม 1 ก.ค. หรือเมื่อพร้อม ในกลุ่มเข้ามารับการรักษา ส่วนขั้น 3 คือ Travel Bubble จ่อทำ 2 รูปแบบ เป็นวิลลา ควอรันทีน เริ่ม 1 ส.ค. ขณะที่ไทยไร้ผู้ติดเชื้อรายใหม่นาน 30 วัน "วิษณุ"รับ หากเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบกระบวนการกักตัวใน 3 ประเด็น ไม่แน่ใจ จนท.จะสนธิกำลังได้เหมือนเดิม

วานนี้ (24 มิ.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวถึง การเปิดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยว่า การผ่อนคลายจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 มี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ดำเนินการให้เข้ามาได้ทันที คือ นักธุรกิจ/นักลงทุน มีลงทะเบียนไว้ 700 คน และอยู่ใน Waiting List เมื่อเข้ามาจะต้องถูกกักตัวตามมาตรการ 14 วัน และกลุ่มที่ให้เข้ามาได้ในวันที่ 1 ก.ค. 63 หลังเสนอ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาเห็นชอบ วันที่ 29 มิ.ย. คือ แรงงานฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 15,400 คน คนต่างด้าว กรณีเป็นครอบครัวคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในไทย จำนวน 2,000 คน ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ประมาณ 2,000 คน ส่วนนี้ต้องถูกกักตัว 14 วันเช่นกัน

"ส่วนนักธุรกิจ นักลงทุน หรือแขกของรัฐบาลที่เดินทางเข้ามาระยะสั้นๆ เช่น ประชุมสัมมนา 2 วันแล้วกลับ หรือลงนามสัญญาวันเดียวแล้วกลับ จะเสนอศบค.ให้เริ่มวันที่ 1 ก.ค.ด้วย โดยต้องมีมาตรการขั้นตอนตรวจเชื้อว่าปลอดโควิดทั้งต้นทาง เมื่อเดินทางถึงไทย มีประกันสุขภาพแสนเหรียญ และมีการจัดทีมติดตามทางการแพทย์อย่างน้อย 1 คน เพื่อกำกับดูแลสังเกตอาการ" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ขั้นที่ 2 กลุ่มที่จะขอให้ดำเนินการ วันที่ 1 ก.ค. หรือเมื่อมีความพร้อม ได้แก่ กลุ่ม Medical and Wellness Tourism ซึ่งประมาณการว่า จะเข้ามาประมาณ 3 หมื่นคน โดยอาจเลือกไว้ในเขต กทม. ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ เชียงราย (ตามความพร้อม) และ กลุ่ม Medical and Wellness Tourism ที่ผนวกกับการดำเนินงานด้าน Safety Tourหรือ SHA

ขั้นที่ 3 โครงการทราเวล บับเบิล (Travel Bubble)แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ มาตรการวิลลา ควอรันทีน จะเริ่ม 1 ส.ค. โดยกลุ่มเดียวกันที่เข้ามาแล้วพักกลุ่มก้อนเดียวกัน เพื่อสะดวกติดตามกำกับ เช่น เช่าบังกะโลชุดใหญ่ริมหาด บางคนมาอยู่เป็นสัปดาห์ เป็นเดือนอยู่แล้ว ก็อยู่ในพื้นที่ที่จำกัด โดยจะเปิดบริการแบบนี้เพื่อนำเงินเข้ามา รุปแบบที่ 2 คือ ผ่อนคลายมาตรการกักตัว แต่จะเริ่มดำเนินการเมื่อพร้อมและสังคมเชื่อมั่นในมาตรการ ตรงนี้ต้องรอไปอีกสักระยะ ส่วนกลุ่มประเทศยังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะตอนแรกหารือจีน ก็มีติดเชื้อที่ปักกิ่ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะคุยก็มีติดเชื้อในประเทศ ก็ยืดออกไป ก็ต้องค่อยๆ คุยกัน

ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย ไม่มีการติดเชื้อในประเทศไทย มาจากต่างประเทศ State Quarantine จากประเทศฟิลิปปินส์ เป็นชายไทยอายุ 31 ปี เป็นพนักงานร้านอาหาร ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,157 ราย ป่วยหายแล้วสะสม 3,026 ราย เพิ่มขึ้น 3 ราย รักษาอยู่ 73 ราย เสียชีวิต 0 ราย สะสมรวม 58 ราย

เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบกระบวนการกักตัว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อหรือไม่ว่า พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาฯสมช. ในฐานะ ประธาน กก.เฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า จะพิจารณาร่วมกับ 4 ฝ่าย สาธารณสุข เศรษฐกิจ ปกครอง และฝ่ายมั่นคง จากนั้นจะนำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม นายกฯก็จะพิจารณาและนำเข้าที่ประชุม ศบค. วันที่ 29 มิ.ย. และนำเข้าที่ประชุมครม.วันที่ 30 มิ.ย.

ส่วนที่มีความกังวลว่า หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะส่งผลกระทบกับศูนย์กักกันตัวของรัฐนั้น ก็มีส่วนบ้าง ยอมรับว่า มีผลกระทบจริงๆ ใน 3 ประเด็น คืออำนาจในการกักตัว สถานที่ที่ใช้ในการกักตัว และค่าใช้จ่าย เพราะตอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราจะคุมใน 3 เรื่องนี้ได้ แต่ถ้าไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ต้องไปดูว่าสั่งการเรื่องต่างๆได้หรือไม่ ถ้าพูดก็คือได้ แต่สั่งได้เป็นคนๆ เช่น สงสัยใครก็ดึงไปวัดไข้เป็นคนๆ แต่ถ้าจะสั่งการในภาพรวมมันยาก หากไปสั่งแล้วมีการขัดขืน คัดค้าน ก็จะไปถึงศาล แต่ถ้าอยู่ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่ต้องไปที่ศาล

ส่วนประเด็นเรื่องสถานที่หากในอนาคตมีเครื่องบินมาลงจำนวนมาก เช่น มีคนลงมา 200 กว่าคน จะทำอย่างไร และจะพาไปไหน และเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลคนเข้าสถานกักกัน 14 วัน คนละ 3 หมื่นกว่าบาท หากต้องรักษาต้องใช้ค่าใช้จ่ายคนละ 1 ล้าน ใครจะรับผิดชอบ

แย้มปลดล็อกเฟส 5 เริ่มได้ 1 ก.ค.

พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช. ในฐานะ ประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวว่า กิจกรรมและกิจการบางประเภทที่จะได้รับการผ่อนคลายมาตรการ ในระยะที่ 5 จะประกอบด้วย สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต สถานบริการอาบอบนวด และโรงน้ำชา ซึ่งจะสามารถเปิดบริการได้ตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการที่ผ่านมา ได้วางมาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเป็นขั้นตอน และจะนำข้อหารือทั้งหมด ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ รายงานต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ ถ้าที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอ จะสามารถอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ หลังจากนั้น จะเหลือกรณีของสนามกีฬาที่มีคนเข้าชมการแข่งขันเท่านั้น ที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้หารือถึงการจับคู่ประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดี เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกัน (ทราเวิล บับเบิล) ในเบื้องต้น คาดว่า จะเกิดขึ้นไม่เร็วกว่าเดือนส.ค.นี้ เนื่องจากต้องพิจารณาปัจจัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในทั่วโลก ความพร้อมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจประเทศต้นทาง

ส่วนการพิจารณาว่า หลังครบกำหนดการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้แล้ว จะต่ออายุการบังคับใช้อีกหรือไม่นั้น สมช. จะมีการประชุมกันในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ แล้วจะนำผลการพิจารณารายงานต่อ ศบค. ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ ก่อนจะเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น