xs
xsm
sm
md
lg

สงครามความคิด! “หมอวรงค์” โต้ ไทยไม่ได้เริ่มที่ 2475 แต่ 800 ปีมาแล้ว “ค.ก้าวหน้า” ผุด “อยากให้ลืมเราจะจำ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงสละอำนาจ จาก เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom
เหลือเชื่อว่าจะเกิดการเผชิญหน้าความจริงสองชุดได้ในบ้านเมือง “หมอวรงค์” โต้กลุ่มภารกิจ 2475 ยังไม่จบ ไทยไม่ได้เริ่มที่ 2475 แต่ 800 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีฯ “คณะก้าวหน้า” ปลุกใหญ่ ย้อนอดีต “อยากให้ลืมเราจะจำ”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (22 มิ.ย. 63) เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โพสต์หัวข้อ “ภารกิจ 2475 มีแต่พวกชังชาติที่ยังไม่จบ”

เนื้อหาระบุว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

นี่คือพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ได้สละอำนาจของพระองค์ ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ มีนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง พยายามที่จะสร้างกระแสว่า การปฏิวัติ 2475 ยังไม่จบ ประกอบกับพฤติกรรมจาบจ้วงต่างกรรมต่างวาระ รวมทั้งการที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 จึงทำให้ตีความได้ว่า ภารกิจ 2475 ยังไม่จบ นั่นคือ ความพยายามปลุกกระแส ล้มล้างสถาบันเบื้องสูง

สิ่งที่คนกลุ่มนี้ อาจจะลืมไป หรือไม่ได้ศึกษา นั่นคือ รากเหง้าที่มาที่ไปของประเทศไทยนั้น มีความเป็นมาอย่างไร

อย่าลืมว่า ประเทศไทย ไม่ใช่เริ่มต้นเมื่อ 2475 แต่มีพัฒนาการมาร่วม 800 ปี นับตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ขับไล่ขอมของอาณาจักรละโว้ ออกจากสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1792 และสถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นมา และพัฒนาการเรื่อยมา

รวมทั้งการประกาศเอกราชครั้งที่หนึ่ง โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในปี พ.ศ. 2127 และการรวบรวมอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่นหลังเสียกรุงครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2310 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือแม้แต่การเสด็จประพาสยุโรปของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เพื่อสร้างพันธมิตรในช่วงยุคล่าอาณานิคม

นี่คือประวัติศาสตร์การสร้างชาติ การต่อสู้ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาตลอดเกือบ 800 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ประชาชนชาวไทยมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน

ที่สำคัญ สถาบันพระมหากษัตริย์ทุกยุคทุกสมัย ไม่มีประวัติของการกดขี่ข่มเหงรังแกประชาชน เหมือนบางประเทศ มีแต่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน จึงเปรียบได้กับพ่อปกครองลูก ไม่แปลกที่สังคมไทยจะนับถือพระมหากษัตริย์ คือ พ่อของแผ่นดิน และเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชาติ
ดังนั้น เหตุการณ์ 2475 จึงเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของกระแสสังคมในช่วงหนึ่งของไทย เป็นการปรับเปลี่ยนระบบการปกครอง ให้รับกับกระแสประชาธิปไตยของโลก ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 แม้พระองค์จะถูกแย่งชิง จากชนชั้นนำที่เรียกคณะราษฎร ร่วมกับผู้นำกองทัพในขณะนั้น แต่พระองค์ได้ทรงเตรียมไว้แล้ว จึงยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบ สันติ ไม่มีการรบราฆ่าฟันเหมือนบางประเทศ

การที่มีนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง พยายามสร้างกระแสว่า ภารกิจ 2475 ยังไม่เสร็จสิ้น ให้ยกเลิกมาตรา 112 จึงเป็นความพยายามสร้างกระแสเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ที่ลืมรากความเป็นมาของชาติ และไม่ใช่วิถีไทย ที่เป็นอัตตลักษณ์ของประเทศ ซึ่งไม่มีทางที่คนไทยจะยอมให้เกิดขึ้น

หยุดจมปลักบิดเบือนอดีต หวังสร้างความเกลียดชัง ควรที่จะช่วยกันทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เพื่อความเจริญของประเทศ ความอยู่ดีกินดี และความผาสุกของประชาชน

ดังนั้น ภารกิจ 2475 จึงจบแล้ว เหลือแต่พวกชังชาติเท่านั้นที่ยังไม่จบ
#save112

ภาพ 88 ปี 2475 กับ 8 สถานที่ที่ต้องจำ จากเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า
อีกด้านหนึ่ง ของคณะก้าวหน้าและเครือข่าย ได้เริ่มมีการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมย้อนรำลึก “88 ปี 2475” เพื่อปลุกกระแสทางสังคมให้เห็นคุณค่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิ.ย.2475 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ก่อนจะผันแปรเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในภายหลัง

วันนี้เช่นกัน เฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า - Progressive Movement โพสต์หัวข้อ “[88 ปี 2475 กับ 8 สถานที่ที่ต้องจำ แม้จะถูกทำให้ลืม]”

โดยระบุว่า “ไม่ใช่แค่คน ที่ถูก “อุ้มหาย” ท่ามกลางเส้นทางสายวิบากของประชาธิปไตยไทย

อาคาร อนุสรณ์สถาน และหมุด ถูกทำให้หายไปอย่างจงใจ ทั้งในสายตาของผู้พบเห็น ในหน้าหนังสือเรียน หน้าประวัติศาสตร์ และความทรงจำของผู้คน

คุณเคยรู้ไหมว่า ครั้งหนึ่งเคยมีวัดชื่อ “วัดประชาธิปไตย”

เคยได้ยินไหมว่ามี “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบางเขน”

เคยตระหนักหรือไม่ว่า ธรรมศาสตร์ เป็นผลผลิตจากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

ผ่านไป 88 ปี เมื่อเดินไปตามท้องถนน ถามไถ่ผู้คน แทบจะไม่มีใครจำได้แล้วว่า “คณะราษฎร” คือใคร สถานที่ที่พวกเขาเดินผ่านทุกวัน เคยเป็นที่ก่อเกิดประวัติศาสตร์ชาติไทยเหตุการณ์ไหน

เราพาคุณไปเดินสำรวจความทรงจำของผู้คนใน 8 สถานที่ประวัติศาสตร์ใกล้ตัว

เพื่อพบกับคำตอบที่ไม่คาดคิด

#อยากให้ลืมเราจะจำ
https://progressivemovement.in.th/article/photo-essay/801/

ภาพ ประชาสัมพันธ์กิจกรรม จากเฟซบุ๊ก กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย
ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง คณะก้าวหน้า - Progressive Movement โพสต์หัวข้อ “[2475 อยากให้ลืม เราจะจำ]
มิถุนายน เดือนแห่งอดีตวันชาติ”

โดยระบุว่า “ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยที่จารึกเมื่อย่ำรุ่งของวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 ณ ลานพระราชวังดุสิต หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ด้านสนามเสือป่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ยืนอ่านคำประกาศสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือ ประกาศคณะราษฎร ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ก่อนจะผันแปรเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในภายหลัง)

กว่า 4 ปีต่อมา 10 ธันวาคม 2479 พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎรและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กลับมายืน ณ ตำแหน่งเดิมอีกครั้งเพื่อฝังหมุดทองเหลืองชิ้นหนึ่งบนพื้นถนน เพื่อให้เป็นหมุดหมายตรึงแน่นในใจคนไทย ว่าเจ้าของประเทศที่แท้จริงนั้น คือราษฎรทุกคน กับชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ แต่ประชาชนทั่วไปชอบที่จะเรียกให้ง่ายกว่านั้นว่า “หมุดคณะราษฎร”

หมุดคณะราษฎรถูกทำให้หายไปจากที่ฝังเมื่อประมาณต้นเดือนเมษายน 2560 และนั่นไม่ใช่ครั้งแรกของความพยายามทำให้หายเพื่อ “ให้ลืม”

ย้อนกลับไป 60 ปีก่อน 21 พฤษภาคม 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกประกาศยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน พร้อมกับสั่งให้ขุดเอาหมุดสำคัญนี้ทิ้งไปเสีย แต่ ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น กลับนำหมุดไปเก็บรักษาไว้ที่รัฐสภา และทำเรื่องขออนุญาตนำมาฝังไว้ในที่เดิม เมื่อจอมพลสฤษดิ์จากไปในปลายปี 2506

แม้ว่าครั้งหลังสุดนี้ ไม่มีนายประเสริฐแห่งยุคสมัยมาเป็นผู้เก็บรักษาวัตถุทางประวัติศาสตร์ชิ้นนั้น และไม่มีใครตอบได้ว่าหมุดคณะราษฎรอยู่ที่ไหน

คณะก้าวหน้า เชื่อมั่นเสมอว่า คนไทยผู้มีหัวใจเสรีดังชื่อเรียก เก็บหมุดคณะราษฎรชิ้นนั้นฝังลงไปในความจดจำรำลึก

ยิ่งมีคนอยากให้ลืม คนไทยจะยิ่งจดยิ่งจำ!...

พร้อมกันนี้ ได้ห้อยกำหนดการการทำกินกรรมเอาไว้สำหรับผู้สนใจ

แน่นอน, เชื่อว่า คนที่เรียนประวัติศาสตร์ไทย และประวัติการเมืองไทย จะเข้าใจได้ทั้งหมดอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น หากแต่ “อุดมการณ์ทางการเมือง” หรือ การปลูกฝังบ่มเพาะต่างหาก ที่ทำให้ความคิดต่อประวัติศาสตร์แตกต่างกันออกไป และรุนแรงทางความคิดเ รวมถึงเลือกเอาแต่ “ข้อดี” ที่ตนอยากหยิบยกขึ้นมา เพื่อทำสงครามทางความคิด หรือ ขยายผลความเชื่อให้กับคนที่อาจไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง หรือ มีข้อมูลไม่ครบชุด เพื่อให้หลงเชื่อ

ดังนั้น การรำลึกเหตุการณ์ในอดีต ที่ดูเหมือน “จงใจ” สร้างบรรยากาศในอดีตให้กลับมา หรือ ที่เรียกว่า “สานต่อภารกิจ 2475 ที่ยังไม่จบ” นั้น

น่าจับตามองอย่างยิ่ง ว่า มีเจตนาอะไรแอบแฝงหรือไม่ อย่างที่ “หมอวรงค์” หยิบยกมาให้เห็น จะมีความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน เชื่อว่า คนไทยมีวิจารณญาณที่ดีกับเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น