สภา กทม.ชุด คสช.แต่งตั้ง ขีดเส้น 7 วันให้ คกก.วิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ งบบริหาร กทม.เพิ่มเติมปี 63 กว่า 3,543 ล้าน หลังตัดเหี้ยนเหลือ 132 โครงการ จากข้อเสนอ 24 หน่วยงาน ตามวงเงินเดิม 8,000 ล้าน พบตัดรายการ “งบกลาง” เงินตามภารกิจและนโยบายที่ได้รับมอบจากรัฐบาล ที่ฝ่ายบริหาร ขอ 689,403,184 บาท เหตุเนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ ส่วนสำนักการโยธาถูกตัดสูงสุด 27 โครงการ
วันนี้ (17 มิ.ย.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2563 มีนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานสภา กทม.เป็นประธาน โดยมีวาระเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ฉบับที่...) พ.ศ. ... จำนวนเงิน 3,543,975,216 บาท เสนอโดยฝ่ายบริหารของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.
โดยสภา กทม.ชุดแต่งตั้งโดย คสช.ตั้งแต่ปี 2557 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวน 31 ราย กำหนดระยะเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นอกจากนี้ เห็นชอบให้จ่ายขาดเงินสะสมรวมทั้งสิ้น 24 หน่วยงาน 132 รายการ/โครงการ จำนวน 3,543,975,216 บาท ซึ่งพิจารณาปรับลดจากเดิมที่ฝ่ายบริหารเสนอขอมา 8,000 ล้านบาท
“ที่ประชุมมีมติขอให้หน่วยงาน กทม.เร่งทบทวนรายการ/โครงการ เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่ของรับงบประมาณ ถึงชั้นคณะกรรมการวิสามัญฯ เริ่มพิจารณา อาจเวลานาน ส่งผลให้สถานการณ์และความจำเป็นอาจเปลี่ยนไป หน่วยงาน กทม.จึงได้ขอถอนรายการ/โครงการ ที่ยังไม่มีความจำเป็นออกไป และสามารถรอการดำเนินการได้บางรายการ”
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าว ประกอบด้วย ด้านการโยธาและระบบจราจร 2,546,842,200 บาท ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 281,648,420 บาท ด้านการพัฒนาและบริการสังคม 186,311,500 บาท ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 139,382,600 บาท ด้านการศึกษา 248,720,375 บาท และด้านการสาธารณสุข 141,070,121 บาท
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในการประชุมสภา กทม.สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2563 พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องเงินสะสม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มีมติให้จ่ายขาดเงินสะสมรายการ/โครงการ ของหน่วนงานในสังกัด กทม. โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ ใช้จ่ายเงินสะสมเห็นชอบแล้ว ประกอบด้วย
สำนักการแพทย์ เห็นชอบทั้ง 28 รายการ/โครงการ 117,525,121 บาท สำนักอนามัย เห็นชอบทั้ง 1 รายการ/โครงการ 23,545,000 บาท สำนักการศึกษา เห็นชอบทั้ง 2 รายการ/โครงการ 245,900,375 บาท สำนักเทศกิจ เห็นชอบทั้ง 1 รายการ/โครงการ 39,704,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ได้ตัดลงลงจาก 8,000 ล้านบาท เหลือ 3,543 ล้านบาท เหลือ 132 โครงการ โดยตัด 27 โครงการของ สำนักการโยธา แต่เห็นชอบ 21 รายการ/โครงการ 1,887,835,000 บาท ตัด 1 โครงการของ สำนักการระบายน้ำ แต่เห็นชอบ 5 รายการ/โครงการ 111,380,000 บาท ตัด 8 โครงการ สำนักการจราจรและขนส่ง แต่เห็นชอบ 6 รายการ/โครงการ 314,507,700 บาท
ตัด 1 โครงการของสำนักสิ่งแวดล้อม เห็นชอบ 7 รายการ/โครงการ 294,042,420 บาท ตัด 2 โครงการของ สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว แต่เห็นชอบ 14 รายการ/โครงการ 98,912,500 บาทตัด 1 โครงการของ สำนักพัฒนาสังคม แต่เห็นชอบ 2 รายการ/โครงการ 21,692,000 บาท
ส่วนโครงการที่ไม่ได้รับความเห็นชอบประกอบด้วย 1 โครงการ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 26,852,400 บาท ทั้งหมดถูกคณะกรรมการวิสามัญ ให้ความเห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบรายการโครงการของ สำนักงานเขต เช่น เขตพระนคร 1 โครงการ 26,022,000 บาท เขตบางเขน 3 โครงการ 11,939,000 บาท เขตมีนบุรี 4 โครงการ 63,582,000 บาท เขตลาดกระบัง 3 โครงการ 44,638,000 บาท เขตหนองจอก 3 โครงการ 23,139,000 บาท เขตบางขุนเทียน 3 โครงการ 46,752,000 บาท
เขตลาดพร้าว 3 โครงการ 9,902,000 บาท เขตดินแดง 1 โครงการ 1,374,000 บาท เขตบางแค 3 โครงการ 26,333,500 บาท เขตคันนายาว 8 โครงการ 9,492,000 บาท เขตวังทองหลาง 1 โครงการ 8,035,600 บาท เขตคลองสามวา 3 โครงการ 77,244,000 บาท เขตทุ่งครุ 7 โครงการ 27,420,000 บาท เขตบางบอน 1 โครงการ 2,820,000 บาท
ขณะที่เขตธนบุรี ที่เสนอซื้อที่ดิน 354,450,000 บาท ไม่ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ และเขตปทุมวัน ที่เสนอขอ 325,000,000 บาท ใน 1 โครงการก็ ไม่ได้ความเห็นชอบ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ รวมทั้ง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เสนอ 17 โครงการ เสนอขอ 168,973,700 บาท ไม่ได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย
สุดท้ายงบกลางค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภารกิจและนโยบายที่ได้รับมอบจากรัฐบาล ฝ่ายบริหารเสนอขอ 689,403,184 บาท ไม่ได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์