“ดร.นิว” เปิดโพสต์ “วันเฉลิม” อ้าง ปลูกกัญชา “ผิดกฎหมาย แต่ใครๆ ก็ปลูก และรัฐไม่จับ” โยงให้เห็น #Saveวันเฉลิม ที่แท้ “เกม” จุดประเด็นเลิก ม.112 “ปิยบุตร” ตามน้ำ ชี้ กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ทั่วโลกไม่เหมือนไทย
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (11 มิ.ย. 63) เฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ของ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความระบุว่า
“ธนาธรควรปั่น #saveพ่อค้ากัญชา เพื่อความชัดเจน
#วันเฉลิมหนีคดี พ.ร.บ.คอมไปค้ากัญชา
___________________
ถ้าที่เจ้าตัวเขาบอกคือ
“ผิดกฎหมาย แต่ใครๆ ก็ปลูก และรัฐไม่จับ”
สรุป เหมือนจะค้า แถมผิดกฎหมายประเทศเขาด้วยไม่ใช่รึนั่น ไปขัดผลประโยชน์อะไรใครหรือเปล่า?
#สติค่ะลูกกกก
ความคิดเห็น
เขียนความคิดเห็น...”
ก่อนหน้านี้ไม่นาน เฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ของ ดร.นิว ก็โพสต์หัวข้อ “#Saveประชาชนจากคนโกหก”
โดยระบุว่า “วันเฉลิม โดน พ.ร.บ.คอม นะ ไม่ใช่ ม.112
แสดงเก่ง ปั่นเก่ง แต่แป้กตลอด
แป้กมากี่เรื่องแล้ว...คุณช่อไม่เหนื่อยบ้างรึไง?
#จะปลุกม็อบหรือเล่นตลกเอาดีๆ”
นอกจากนี้ The METTAD ยังระบุต่อจากนั้นว่า “เจตนาที่แท้จริง ของ #Saveวันเฉลิม”
อีกด้านที่น่าอ้างถึง ก็คือ เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ที่ออกมาโพสต์ข้อความเมื่อวานนี้หัวข้อ “[ สำรวจกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในหลากหลายประเทศ ]”
ในที่นี้ขอหยิบยกมาเป็นบางส่วน นับแต่ “ผมได้ติดตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 10 มิถุนายน รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้สด กรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกบังคับให้สูญหายที่กรุงพนมเปญ โดยมี สมศักดิ์ เทพสุทิน รมต.ยุติธรรม และ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมต.ต่างประเทศ เป็นผู้ตอบ ตอนหนึ่ง รมต.ต่างประเทศ ได้ตอบว่า
“ที่พยายามจะโยงไปถึงกฎหมายอาญา ม.112 หรืออะไรก็แล้วแต่ ครั้งหนึ่งก็จำได้ว่า มีกลุ่มทูตกลุ่มหนึ่งซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 28 ประเทศ แต่ว่ามาพบประมาณ 22 ประเทศ และมีการคุยกันหลายเรื่อง ในเรื่องหนึ่งมีการยกประเด็นนี้คล้ายคลึงกัน ก็ได้มีคำตอบไปว่า ม.112 เป็นเหมือนกับกฎหมายที่มีอยู่ในทุกประเทศในความหมายของการเป็นกฎหมายเฉพาะถิ่น เฉพาะที่ เฉพาะตามความจำเป็นของประเทศนั้นๆ ซึ่งเชื่อว่า ทุกประเทศก็มีกฎหมายลักษณะนี้อยู่ในกฎหมายอาญาของเขา ได้ตอบไปเช่นนั้น
และถามไปด้วยซ้ำว่า เป็นเช่นนั้นหรือไม่ ทุกประเทศผงกศีรษะและตอบรับว่าใช่ ทุกประเทศมีกฎหมายอาญาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคม ปัญหาต่างๆ ที่แต่ละประเทศมีอยู่ ซึ่งไม่ต่างกับ ม.112 เพียงแต่ว่า บริบทอาจจะคนละเรื่องกัน แต่เป็นพิเศษเพื่อตอบสนองความจำเป็นของสังคมมีอยู่เช่นนั้นจริง
ก็มีคำถามต่อไปว่า แล้ว ม.112 เป็นที่เดือดร้อนของคนไทยเท่าไหร่ จาก 22 ประเทศที่มานั่งคุยกัน เขาก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน แต่เขาเพียงได้รับฟังมาจากเพื่อนคนไทยหรือใครก็แล้วแต่ในแวดวงการเมือง ว่า มีปัญหากับ ม.112 ก็เลยต้องชี้แจงไปว่า ม.112 ถ้าจะพูดถึงคนที่ห่วงใยและห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาตรานี้ในกฎหมายอาญา ก็คงจะแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ จะเรียกว่ากลุ่มใหญ่เท่ากันก็คงไม่ได้
กลุ่มแรกคือ 67 ล้านคน ที่ไม่เห็นเป็นปัญหา อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะประมาณไม่ถึง 100 คน ที่เห็นเป็นปัญหา”...
จากนั้น “ปิยบุตร” ระบุว่า “ผมเห็นว่า สิ่งที่ รมต.ต่างประเทศพูดในสภานั้น ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เพื่อมิให้ผู้ฟังเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการคล้อยตาม รมต.ต่างประเทศ ผมจึงจำเป็นต้องอธิบายเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่า กรณีของประเทศไทยนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นมาก จนไม่สามารถยกเหตุผลทำนองว่า “ใครๆ ก็มีที่ไหนๆ ก็ใช้” มาอ้างได้อีกต่อไป”
โดยสาระที่ “ปิยบุตร” หยิบยกมา โดยสรุป อ้างถึงการสำรวจในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และแบ่งออกเป็นกลุ่มประเทศ พร้อมยกตัวอย่าง ข้อกฎหมาย และโทษ ซึ่งจะไม่ขอลงรายละเอียดทั้งหมด
กลุ่มแรก ไม่มีความผิดฐาน Lèse Majesté ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนบุคคลทั่วไป เช่น 1. ญี่ปุ่น 2. สหราชอาณาจักร
กลุ่มที่สอง มี แต่ไม่นำมาใช้ หรือแทบไม่นำมาใช้ หรือหากนำมาใช้ ก็เพียงลงโทษปรับ เช่น 1. เบลเยียม 2. เนเธอร์แลนด์ 3. เดนมาร์ก 4. นอร์เวย์ 5. สวีเดน 6. สเปน
กลุ่มที่สาม มีและนำมาใช้ แต่อัตราโทษต่ำกว่าราชอาณาจักรไทย เช่น โมร็อกโก
จากนั้น “ปิยบุตร” ลงความเห็นว่า “เมื่อได้อ่านจนจบแล้ว คงเห็นตรงกันว่า ข้ออ้างที่ว่า “ใครๆ ก็มี ประเทศไหนๆ ก็ใช้” เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก จนไม่อาจถูกนำมายกตอบโต้ได้อีกต่อไป
ทั้งยังระบุด้วยว่า “กรณีที่แฮชแท็ก #ยกเลิก 112 ซึ่งขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์ ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 กลับมา ท่านใดสนใจอยากให้กลับไปย้อนอ่านบันทึกข้อเขียนและการอภิปรายของผมในหนังสือ “ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป” หน้า 90-107
#ประชุมสภา #Saveวันเฉลิม”
แทบไม่ต้องสงสัยว่า ที่ปลุกกระแส ปูกระแส สร้างความสนใจ ระคนด้วยความน่ากลัว ให้เห็นถึงความรุนแรง ที่ทำให้เชื่อว่า ปัญหามาจากการกระทำของอำนาจรัฐ รวมทั้งมีความพยายามเชื่อมโยงถึงสถาบัน กันมาตั้งแต่วันที่ “วันเฉลิม” ถูกอุ้ม จนถึงวันนี้ ก็เพื่อที่จะจุดประเด็นยกเลิก กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ว่าด้วยการหมิ่นเบื้องสูง
โดยเฉพาะ ม.112 “ปิยบุตร” เคยร่วมรณรงค์แก้ไขมาแล้ว สมัยอยู่กับคณะนิติราษฎร์ และ ครก. 112 จนทำให้ “พะยี่ห้อ” ติดตัวมาจนถึงวันนี้
แล้วทั้งหมด ก็ “เผยไต๋” ออกมาว่า “วันเฉลิม” ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างน่าเศร้าและน่าเวทนา โดยแทบไม่ต้องสนใจด้วยซ้ำ ว่า เขาถูกอุ้มด้วยสาเหตุอะไร และต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่อาจไม่รู้เรื่องด้วย แต่ถูกกล่าวหาหรือไม่