ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ยังไง? ชาวโซเชียลแฉอีกมุมของ “วันเฉลิม” ลอบปลูกกัญชากับปริศนามีปัญหากับ “คนระดับเบิ้มๆ”? ก่อนจะถูกอุ้มหาย ขณะที่ฝ่าย #SaveWanchalerm ดี๊ด๊าได้ “มารีญา” อดีตมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ มาช่วยกระพือ
จากกรณี “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ต้าร์” นักกิจกรรมทางการเมือง แอดมินเพจ “กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ” ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2561 แล้วหลบหนีคดี และถูกอุ้มหายตัวไปในกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ต่อมาเมื่อ “วันเฉลิม” หายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำ ก็มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็น หยิบขึ้นมาเป็นประเด็นการเมือง โดยเฉพาะ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกตัวแรง ถึงกับเปรียบเปรยกรณี “วันเฉลิม” เป็นเรื่องเช่นเดียวกับ “จอร์จ ฟลอยด์” ของอเมริกา เรียกร้องให้สังคมไทยไม่ควรนิ่งเฉย
จากนั้น “ติ่ง” ในโซเชียล ก็ขานรับเที่ยวไล่ขอให้ ดารา-นักร้อง เช่น คัตโตะ แก้ม-เดอะสตาร์ ปู ไปรยา ลุนเบิร์ก ติด “#saveวันเฉลิม” เป็นแคมเปญ หวังอาศัยฐานแฟนคลับขยายผล แต่เมื่อมีคนปฏิเสธ หรือเห็นต่าง ก็เข้าไปรุมด่าอย่างหยาบคาย เสียๆ หายๆ ส่งผลให้ชาวโซเชียลไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมเถื่อนถ่อยของคนกลุ่มนี้ จนแฮชแท็ก “#saveวันเฉลิม” ถูกกระแสตีกลับ
มาล่าสุด เมื่อวานนี้ (8 มิ.ย) ฝายเรียกร้อง #Saveวันเฉลิม ก็ได้โห่ร้องชื่นชม เมื่อ “มารีญา พูลเลิศลาภ” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2560 ออกมาโพสต์ อินสตาแกรมส่วนตัว ถึงประเด็นของ “วันเฉลิม” เป็นภาษาอังกฤษ เนื้อความระบุว่า นักกิจกรรมชาวไทยที่ลี้ภัยในกัมพูชาหายตัวไป แต่ทั้งรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทย ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ?
พร้อมกับระบุว่า นี่เรากำลังอาศัยอยู่ในประเทศแบบไหน ในเมื่อเราไม่อาจแสดงความคิดเห็นได้ ? และ ติดแฮชแท็ก #SaveWanchalerm ไว้ในตอนท้าย
เรียกว่า “มารีญา” ได้รับเสียงชื่นชมถูกอกถูกใจ กดไลก์รัวๆ จากฝ่าย “ติ่งธนาธร” บรรดาคนที่เห็นว่าต่องเซฟวันเฉลิม ดัน #มารีญา ฮอตฮิตในทวิตเตอร์
แต่...ในอีกด้านหนึ่ง สื่อโซเชียลได้นำเสนอเรื่องอีกมุมหนึ่งของวันเฉลิม โดยระบุว่า “วันเฉลิม” ลักลอบปลูกกัญชาในเขมร ชาวโซเชียลวิจารณ์ อาจเป็นอีกสาเหตุที่หายตัว
สื่อโซเชียลดังกล่าวได้อ้างเฟซบุ๊กของวันเฉลิม ซึ่งพบว่า วันเฉลิมเองได้โพสต์ภาพต้นอ่อนกัญชาในเฟซบุ๊กของตัวเอง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า พร้อมกับข้อความว่า
“ความซับซ้อนของต้นไม้มันก็ไม่มีอะไรมาก เพาะเมล็ดและอนุบาลโดยมิตรสหาย เอามาพักไว้แล้วก็ส่งไปให้มิตรสหายของมิตรสหายปลูกอีกทีนึง อีกสี่ห้าเดือนค่อยว่ากันใหม่ ถ้ามันมีดอกผลอ่ะนะ #รักษ์โลก #ส่งต่อต้นไม้ #เราปลูกและเราแจก #ดอกผลมันจะกลับมา”
และในวันต่อมา (3 มิถุนายน) วันเฉลิม ก็ได้โพสต์อีกครั้ง เล่าถึงปัญหาความขัดแย้งเรื่องธุรกิจ โดยขอบคุณ “ผู้ใหญ่บางคน” ที่ยื่นมือมาช่วยเหลือไม่ให้เสียเครดิต โดยระบุว่า จะระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น ดังนี้
“ขอบคุณพี่ท่านนั้น ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ผมมีที่อยู่ที่ยืนในสังคมที่ผมทำงานอยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องระดับเบิ้มๆ ทั้งนั้น พี่ท่านนั้นเค้ามาช่วยเหลือ ทำให้ไม่เสียเครดิตกับธุรกิจที่กำลังดีลอยู่ ว้าวๆ คืนนี้คงนอนหลับแล้ว หลังจากนอนไม่หลับเครียดมา 4 เดือนแน่ะครับ ❣ และก็รู้ว่า มีพี่ๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่รับรู้เรื่องราว และคอยเป็นกำลังใจให้อยู่ ได้รับรู้ว่าห่วงใยแม้แสดงออกมากไม่ได้ แต่ผมก็รับรู้ว่า พี่ๆ ห่วงอยู่ ต่อไปผมก็จะระมัดระวังให้มากครับ เด้อๆ”
แล้วอีกวันต่อมา “วันเฉลิม” ก็ถูกกลุ่มคนกัมพูชาดักอุ้มไปจากหน้าโรงแรม จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล ว่า จริงๆ แล้ว วันเฉลิม ทำธุรกิจอะไร ? กับใคร ? ในกัมพูชา ซึ่งถ้าหากเกี่ยวพันกับ “เรื่องยาเสพติด” ก็มีความเป็นไปได้ว่า วันเฉลิมอาจจะไปขัดผลประโยชน์กับมาเฟียเจ้าถิ่นหรือไม่ ?
สื่อโซเชียลยังอ้างว่า รัฐบาลกัมพูชาได้เพิ่มโทษผู้ค้ายาเสพติดให้รุนแรงขึ้น และปราบปรามอย่างจริงจังมาตลอด และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทาง องค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ได้ออกประณาม และจี้ให้กัมพูชา เลิกสงครามยาเสพติด ที่ใช้ความรุนแรงในการจับกุม และทรมานผู้กระทำผิด
ดังนั้น กรณีนี้ เมื่อวิเคราะห์สาเหตุการที่ “วันเฉลิม” ถูกอุ้มตัวไป ชาวเน็ตเชื่อว่า วันเฉลิมนั้นได้หลบหนีคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และขออาศัยอยู่ในกัมพูชา โดยมีข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ “วันเฉลิม” ได้ละเมิดข้อตกลงมาโดยตลอด และยังแอบลักลอบปลูกกัญชา ซึ่งเป็นยาเสพติดต้องห้ามในประเทศกัมพูชาอีกด้วย ซึ่งถ้าถูกพบตัว ก็จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ายาเสพติดในประเทศกัมพูชา เช่นกัน เนื่องจากกัมพูชา ไม่ได้อนุญาตให้คนต่างชาติสามารถปลูกกัญชาในประเทศ
เอาละสิ งานนี้ชักจะยังไง? ก็ต้องคิดตามกันต่อไป ถึงที่สุด #saveวันเฉลิม จะเป็นอย่างไร โดยที่ความยังไม่กระจ่างตอนนี้ ไม่ใครก็ใครคงได้เงิบ ได้หงาย กันบ้างล่ะ
** ฝ่ายค้านฉวยจังหวะที่มีปัญหา อดีต สนช. เป็นกรรมการองค์กรอิสระได้หรือไม่ ขยายผลไปสู่การ “สอย” 90 ส.ว. ที่เป็นอดีต สนช.
กรณีที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติให้ความเห็นชอบ “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งต่อมามีการตั้งข้อสังเกตว่า “สุชาติ” อาจมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากพ้นตำแหน่ง สนช.ไม่ถึง 10 ปี เพราะ สนช.ทำหน้าที่เป็นทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะมี รธน.60
เรื่องนี้ “สุนี ไชยรส” ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยืนยันว่า คณะ กก.สรรหา กสม. ได้มีมติถึง 2 ครั้ง ว่า อดีต สนช.ถือว่าเป็น ส.ส.และ ส.ว.ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้ หากพ้นตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี จนทำให้ “พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” อดีต สนช. ถูกตีตก ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.ได้
จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์เชิงเปรียบเทียบว่า ทั้ง “ป.ป.ช.” และ “กสม.” ต่างก็เป็นองค์กรอิสระ แล้วทำไมมาตรฐานในการสรรหาผู้ที่จะเข้าไปเป็นกรรมการ จึงแตกต่างกัน กล่าวคือ กรรมการสรรหา ป.ป.ช. มองว่า สนช. ไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว. แต่กรรมการสรรหา กสม. มองว่า สนช. เป็น ส.ส.และ ส.ว.
เรื่องนี้ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ต้องออกมาชี้แจงว่า การสรรหา กก.องค์กรอิสระ เป็นหน้าที่ของคณะ กก.สรรหาฯ ที่ประกอบด้วย ปธ.ศาลฎีกา ปธ.สภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ปธ.ศาลปกครอง ผู้แทนศาล รธน. และ องค์กรอิสระ เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก จากนั้นส่งรายชื่อให้วุฒิสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบ
การวินิจฉัยคุณสมบัติผู้สมัครว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นหน้าที่ของ คณะ กก.สรรหาฯ เมื่อสรรหาได้แล้วจึงส่งมาให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีของ “สุชาติ” นั้น แม้มี ส.ว.บางส่วน ตั้งข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติ แต่ก็ไม่สามารถหยิบยกมาวินิจฉัยได้ เพราะ รธน. มาตรา 203 วรรค 5 ระบุว่า “กรณีที่มีปัญหาคุณสมบัติผู้สมัคร ให้เป็นหน้าที่คณะ กก.สรรหาฯ เป็นผู้วินิจฉัย และให้คำวินิจฉัยของคณะ กก.สรรหาฯ เป็นที่สิ้นสุด” ... ดังนั้น วุฒิสภา จึงไม่มีอำนาจไป ลบล้างคำวินิจฉัยของคณะ กก.สรรหาฯได้
เมื่อยังมีข้อถกเถียงกันเช่นนี้ ก็ต้องระงับการนำชื่อ “สุชาติ” ขึ้นทูลเกล้าฯ ไว้ก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจน โดยประธานวุฒิสภา จะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการสรรหาฯ ในวันนี้ (9 มิ.ย.) เพื่อหาข้อยุติ
ขณะที่ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะ กก.สรรหา กรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า เมื่อเป็นมติของคณะกก.สรรหาฯ ที่ถือว่าเป็นที่สุดไปแล้ว จะไปกลับมติไม่ได้ การที่ประธานวุฒิสภา เรียกประชุมคณะกรรมการสรรหา ก็เพื่อยันยันมติอีกครั้ง ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ก็คงต้องติดตามความชัดเจนภายหลังการประชุม... ส่วนที่มีความเห็นต่างกันว่า สนช. มีความหมายเป็น ส.ส.- ส.ว และเป็นข้าราชการเมือง หรือไม่ นั้นถือเป็นความเห็นทางกฎหมาย ตนเองไม่สามารถชี้ขาดได้
ดังนั้น ความเห็นต่างที่ว่า สนช.เป็น ส.ส.และ ส.ว.หรือไม่ ซึ่งผูกพันไปถึง “สุชาติ” ว่า มีคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นกรรมการป.ป.ช.หรือไม่ คงต้องไปจบที่ศาล รธน. เป็นผู้ชี้ขาด
แต่การจะยื่นเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัยนั้น “ต้องเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กร” ซึ่งในที่นี้คือความขัดแย้งระหว่าง กก.สรรหา กสม. กับ กก.สรรหา ป.ป.ช. จึงต้องรอหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการ จากคณะ กก.สรรหาทั้งสองคณะก่อน
ขณะที่พรรคการเมืองในซีกฝ่ายค้าน เมื่อเห็นข้อขัดแย้งทางกฎหมายเช่นนี้ ก็เข้ามาร่วมวงทันที โดยเป้าหมายอยู่ที่การ “สอย” 90 ส.ว. ที่เป็นอดีต สนช.
“ปิติพงศ์ เต็มเจริญ” โฆษกพรรคเสรีรวมไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งศาล รธน. พิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ส.ว.ทั้ง 90 คน สิ้นสุดลงตาม รธน. มาตรา 108 ข(1) (3) และ (9) หรือไม่ เพราะ ส.ว. 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช.นั้น มี 90 คน เป็นอดีต สนช.
มีการอ้างถึง รธน.ปี 60 มาตรา 108 ที่ระบุว่า ส.ว.จะต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม มาตรา 98(17) หรือเคยเป็น ส.ส. เว้นแต่พ้นจากการเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเคยดำรงตำแหน่ง ส.ว. ตาม รธน.นี้ ซึ่ง ส.ว.ทั้ง 90 คนนี้ เคยดำรงตำแหน่ง สนช. จึงถือว่าขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม
จากปัญหาลักษณะต้องห้ามว่า อดีต สนช.เป็นกรรมการองค์กรอิสระได้หรือไม่ กำลังถูกฝ่ายค้านขยายผลไปสู่การสั่นคลอนวุฒิสภา ซึ่งถือเป็นกำลังหลักของรัฐบาลนี้ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ ... ต้องติดตาม