xs
xsm
sm
md
lg

ขุดคุ้ย “วันเฉลิม” ลักลอบปลูกกัญชาในเขมร อาจเป็นสาเหตุที่หายตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวเน็ตขุดคุ้ย “วันเฉลิม” ลักลอบปลูกกัญชาในเขมร สอดคล้องกับที่เคยโพสต์ขัดแย้งเรื่องธุรกิจ คาดขัดผลประโยชน์มาเฟียเจ้าถิ่น อาจเป็นอีกสาเหตุที่หายตัวไป

วันที่ 8 มิ.ย. 63 เพจ “Thailand Vision” ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ... เผย “วันเฉลิม” ลักลอบปลูกกัญชาในเขมร ชาวโซเชียลวิจารณ์ อาจเป็นอีกสาเหตุที่หายตัว

จากเหตุ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทย ที่หลบหนีหมายจับอยู่ในกัมพูชา ถูกกลุ่มคนร้ายลักพาตัวไปจากหน้าโรงแรมที่พนมเปญนั้น

ในวันนี้ในสื่อโซเชียลได้มีการเผยภาพ ของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ว่า มีการลักลอบปลูกต้นกัญชา โดยนายวันเฉลิมเองก็ได้โพสต์รูปต้นอ่อนกัญชาในเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า

“ความซับซ้อนของต้นไม้มันก็ไม่มีอะไรมาก เพาะเมล็ดและอนุบาลโดยมิตรสหาย เอามาพักไว้แล้วก็ส่งไปให้มิตรสหายของมิตรสหายปลูกอีกทีนึง อีกสี่ห้าเดือนค่อยว่ากันใหม่ถ้ามันมีดอกผลอ่ะนะ #รักษ์โลก #ส่งต่อต้นไม้ #เราปลูกและเราแจก #ดอกผลมันจะกลับมา”

และในวันต่อมา (3 มิถุนายน) นายวันเฉลิม ก็ได้โพสต์สเตตัส เล่าถึงปัญหาความขัดแย้งเรื่องธุรกิจ โดยขอบคุณ “ผู้ใหญ่บางคน” ที่ยื่นมือมาช่วยเหลือไม่ให้เสียเครดิต โดยระบุว่า จะระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น ดังนี้

“ขอบคุณพี่ท่านนั้น ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ผมมีที่อยู่ที่ยืนในสังคมที่ผมทำงานอยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องระดับเบิ้มๆ ทั้งนั้น พี่ท่านนั้นเค้ามาช่วยเหลือทำให้ไม่เสียเครดิตกับธุรกิจที่กำลังดีลอยู่ ว้าวๆ คืนนี้คงนอนหลับแล้วหลังจากนอนไม่หลับเครียดมา 4 เดือนแน่ะครับ ❣️ และก็รู้ว่า มีพี่ๆอีกกลุ่มหนึ่งที่รับรู้เรื่องราวและคอยเป็นกำลังใจให้อยู่ ได้รับรู้ว่าห่วงใยแม้แสดงออกมากไม่ได้ แต่ผมก็รับรู้ว่าพี่ๆ ห่วงอยู่ ต่อไปผมก็จะระมัดระวังให้มากครับ เด้อๆ”

และในวันต่อมา (4 มิถุนายน) นายวันเฉลิม ก็ถูกกลุ่มคนกัมพูชาดักอุ้มไปจากหน้าโรงแรม

จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียว่า จริงๆ แล้ว นายวันเฉลิม ทำธุรกิจอะไร? กับใคร? ในกัมพูชา ซึ่งถ้าหากเกี่ยวพันกับเรื่องยาเสพติด ก็มีโอกาสเป็นไปได้ว่า นายวันเฉลิม อาจจะไปขัดผลประโยชน์กับมาเฟียเจ้าถิ่นอยู่ก็ได้

ในส่วนของยาเสพติดนั้น ทางกัมพูชาก็ได้เพิ่มโทษผู้ค้ายาเสพติดให้รุนแรงขึ้น และได้ปราบปรามอย่างจริงจังมาตลอด และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทาง องค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ได้ออกประณาม และจี้ให้กัมพูชา เลิกสงครามยาเสพติด ที่ใช้ความรุนแรงในการจับกุมและทรมานผู้กระทำผิด

** กัมพูชาเห็นชอบ ก.ม.ปราบปรามค้ายาเสพติดฉบับใหม่

รัฐสภากัมพูชามีมติด้วยคะแนนเสียง 78 เสียง จากที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 79 คน ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายปราบปรามการค้ายาเสพติดฉบับใหม่ เพื่อนำมาใช้เแทนกฎหมายฉบับเดิม ที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2540

ประธานหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติของกัมพูชา กล่าวว่า ในปัจจุบัน ปัญหาการค้ายาเสพติดรุนแรงมาก ขณะที่กฎหมายฉบับเก่ามีบทลงโทษที่เบาเกินไป แต่กฎหมายฉบับใหม่จะมีบทลงโทษผู้กระทำผิดแรงกว่าเก่าถึง 2 เท่า โดยผู้ค้ายาเสพติดที่มียาเสพติดในครอบครองมากกว่า 80 กรัมขึ้นไปจะต้องได้รับโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งบทลงโทษดังกล่าวสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

** “แอมเนสตี้” จี้ กัมพูชาเลิก “สงครามยาเสพติด” เผยจับเหวี่ยงแห “ผู้เสพ-คนจน” แถมมีทารุณกรรมอื้อ

วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 องค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) เผยแพร่รายงานเรื่อง “การใช้สารเสพติด : ผลกระทบต่อประชาชนจากการปราบปรามยาเสพติดในกัมพูชา (Substance abuses : The human cost of Cambodia’s anti-drug campaign)” ระบุว่า นโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติด ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาใช้มานานถึง 3 ปี นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดได้แล้ว ยังก่อปัญหาอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วยทั้งด้านสิทธิมนุษยชนและสาธารณสุข

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า สงครามปราบปรามยาเสพติดของกัมพูชาเป็นหายนะที่ไม่รับการบรรเทา เป็นรูปแบบการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่มีรายได้น้อย สามารถทุจริตได้อย่างแพร่หลาย โดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อการสาธารณสุขและความปลอดภัย ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชา ได้เริ่มรณรงค์ปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560

โดยสอดคล้องกับแนวทางของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ที่ไปเยือนกัมพูชาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ผู้นำทั้งสองต่างประกาศความร่วมมือต่อต้านยาเสพติด จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ การรณรงค์ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดการเสพและอันตรายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในกัมพูชา ทั้งนี้ โดยการจับกุมผู้เสพยาเสพติดจำนวนมาก เมื่อเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซาร์เข่ง รัฐมนตรีมหาดไทย เรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้เสพยาและผู้ค้ายารายย่อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสพและการจำหน่ายทุกคน

รายงานฉบับดังกล่าวของแอมเนสตี้ กล่าวถึงการพูดคุยกับเหยื่อการปราบปรามยาเสพติดอย่างไร้มนุษยธรรมของกัมพูชาหลายสิบคน พวกเขาบอกว่า ต้องตกเป็นเหยื่อของระบบการลงโทษที่คู่ขนานกัน บางส่วนถูกควบคุมตัวโดยพลการและไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ ในศูนย์บำบัดยาเสพติด ส่วนคนอื่นถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามระบบยุติธรรมทางอาญา และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและชัดเจน ระหว่างการละเมิดกระบวนการอันควรตามกฎหมาย อันเป็นเหตุให้บุคคลถูกคุมขัง กับแนวทางที่ปราศจากเอกภาพในการพิจารณาว่า บุคคลใดควรถูกดำเนินคดีอาญา หรือถูกส่งตัวเข้าศูนย์บำบัดยาเสพติด โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งในบางครั้งมีการรับเงินสินบน สามารถใช้ดุลพินิจตัดสินใจเองว่า ใครจะต้องถูกปฏิบัติอย่างไร

** “วันเฉลิม” จะเป็นอย่างไร

ในส่วนของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นั้น ได้หลบหนีคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และขออาศัยอยู่ในกัมพูชา โดยมีข้อตกลงว่า จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่นายวันเฉลิมได้ละเมิดข้อตกลงมาโดยตลอด และยังแอบลักลอบปลูกกัญชา ซึ่งเป็นยาเสพติดต้องห้ามในประเทศกัมพูชาอีกด้วย ซึ่งถ้าถูกพบตัว ก็จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ายาเสพติดในประเทศกัมพูชา เช่นกัน เนื่องจาก กัมพูชา ไม่ได้อนุญาตให้คนต่างชาติสามารถปลูกกัญชาในประเทศ







กำลังโหลดความคิดเห็น