“หมอวรงค์” แฉพิรุธ “แอมเนสตี้ไทย” สังเกต “วิ่งไล่ลุง” เข้าข่ายทฤษฎีสมคบคิด เพราะมักเคลื่อนไหวเป็นแนวร่วมกับบางพรรค ถามทำไมมีผ้าคาดหน้าคล้ายฮ่องกง?
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (10 ม.ค. 63) เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โพสต์ หัวข้อ “ชักศึกเข้าบ้าน”
โดยระบุว่า “แอมเนสตี้ไทย ได้ประกาศรับอาสาสมัครที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ร่วมสังเกตการณ์ และรายงานมายังส่วนกลางในกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” โดยมีค่าตอบแทนครั้งนี้ 800 บาท
คนไทยจำนวนมากควรต้องรับรู้ว่า องค์การนี้เป็น NGOเครือข่ายสากล ส่วนหนึ่งรับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ และมักจะเข้ามาแสดงออกทางการเมือง ที่เป็นแนวร่วมกับพรรคการเมืองบางพรรค
การที่แอมเนสตี้ไทยขยับดังกล่าว จึงคล้ายกับทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) เพราะไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ NGO ระหว่างประเทศเข้ามาวุ่นวายกิจกรรมทางการเมืองในบ้านเรา
แบบนี้ทำให้คิดได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการ “ชักศึกเข้าบ้าน” หรือไม่ #รู้ทันพวกชังชาติ #ปราบลัทธิชังชาติด้วยความจริง
ต่อมา “หมอวรงค์” ยังโพสต์หัวข้อ “ทำไมต้องทำที่คาดหน้าคล้ายฮ่องกง?”
โดยระบุว่า “ม็อบวิ่งไล่ลุง มีการระดมขายผ้าคาดหน้าแบบนี้ เพื่อปิดบังใบหน้า เลียนแบบม็อบฮ่องกง ซึ่งก็มีการคาดหน้าแบบนี้ช่วงแรกๆ ช่วงหลังรุนแรงขึ้นก็ใส่หมวกโม่งดำ
คำถามจึงถามว่า ทำไมต้องทำที่คาดหน้าคล้ายฮ่องกง หรือเพื่อต้องการปิดบังอำพรางบางสิ่งบางอย่างหรือไม่
ฝากพ่อแม่ ผู้ปกครองช่วยกันดูแลด้วยครับ #รู้ทันพวกชังชาติ #ปราบลัทธิชังชาติด้วยความจริง
ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก Amnesty International Thailand โพสต์ข้อความระบุว่า
“ร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์ #วิ่งไล่ลุง กับแอมเนสตี้ 🏃🏃
รับสมัครอาสาสมัครสังเกตการณ์กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และมหาสารคาม จังหวัดละ 6 คน รวม 18 คน จากกรณีผู้จัดงานในหลายพื้นที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารขัดขวางไม่ให้จัดกิจกรรม เราอยากชวนผู้ที่สนใจมาสมัครเป็นทีมอาสาสมัครของแอมเนสตี้ ประเทศไทย เพื่อร่วมสังเกตการณ์ในกิจกรรมครั้งนี้ผ่านมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน
คุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นอาสาสมัคร มีดังนี้
1. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ 2. ไม่เป็นผู้จัดกิจกรรมหรือมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม และไม่เป็นผู้ร่วมกิจกรรม 3. สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
4. สามารถเดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง ดังต่อไปนี้ 4.1 จังหวัดเชียงใหม่ ณ ประตูท่าแพ เวลา 6:00 เป็นต้นไป 4.2 จังหวัดขอนแก่น ณ หน้าศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก เวลา 16:30 เป็นต้นไป 4.3 จังหวัดมหาสารคาม ณ หอนาฬิกาเมืองมหาสารคาม เวลา 5:00 เป็นต้นไป
5. มีสมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ 6. สามารถเข้ารับฟังแนวทางปฏิบัติงานกับแอมเนสตี้ในวันที่ 10 มกราคม 2563 ทางโทรศัพท์ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง (จะแจ้งเวลาให้ทราบอีกครั้ง) 7. สามารถเริ่มงานหรือลงพื้นที่ 1 ชั่วโมงก่อนที่กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ของแต่ละพื้นที่จะเริ่มขึ้น
8. ต้องส่งข้อมูลให้ทางแอมเนสตี้หลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้น 9. ได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นอาสาสมัครจำนวน 800 บาท 10. ยินยอมให้ข้อมูลที่ท่านได้บันทึกเป็นข้อมูลของแอมเนสตี้ ประเทศไทย
*ปิดรับสมัครวันที่ 9 มกราคม 2563 เวลา 17:00 น.*
สมัครที่ https://buff.ly/2QwhJka
สำหรับการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจก่อนหน้านี้ของแอมเนสตี้ฯ
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 63 น.ส.เนาวรัตน์ เสือสอาด ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ยุติการคุกคามด้วยกระบวนการกฎหมายต่อสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวในประเทศไทย
ที่ผ่านมาทางการเริ่มดำเนินคดีอาญาครั้งใหม่ต่อสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ และนักเคลื่อนไหว เนื่องจากการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ
ข้อหาเหล่านี้เป็นผลมาจากการที่ประชาชนชาวไทยหลายหมื่นคน ร่วมชุมนุมในตอนค่ำวันที่ 14 ธ.ค. 63 เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง ที่เรียกว่าแฟลชม็อบที่กรุงเทพฯ รวมทั้งที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทย การประท้วงอย่างสงบเหล่านี้ เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่
ทางการไทยได้แจ้งข้อหาหลายคดี ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต่อแกนนำระดับสูงของพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหม่ที่ชนะการเลือกตั้งได้ส.ส. 81 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562
แต่ก่อนและหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ทางการได้เริ่มกระบวนการที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธินายธนาธรในฐานะรัฐสภา ในวันที่มีการชุมนุมประท้วง ตำรวจแจ้งข้อหาต่อนายธนาธรฐานที่ใช้เครื่องขยายเสียงในที่สาธารณะอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
ในวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค. นายสนธิญา สวัสดี ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคเสียงข้างมาก ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ 4 คน ได้แก่ นายธนาธร น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
โดยกล่าวหาว่า จำเลยไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงาน จัดชุมนุมสาธารณะภายในระยะ 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน และจัดชุมนุมขวางทางเข้าออกที่สาธารณะ ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่า ด้วยความมั่นคงของรัฐ และการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หากศาลตัดสินว่ามีความผิด สมาชิกพรรคเหล่านี้อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี
ที่จังหวัดเชียงใหม่ แอดมินของเฟซบุ๊กเพจ สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนการประท้วงครั้งนี้ ถูกดำเนินคดีเนื่องจากไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10.000 บาท และที่ผ่านมาทางการมักนำมาตรานี้มาใช้เพื่อแทรกแซง และขัดขวางการชุมนุมทั่วประเทศไทย นับแต่รัฐบาลทหารประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่ปี 2558
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยให้ยุติการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นการจำกัดจนเกินขอบเขตต่อสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ และยุติการใช้มาตรา 116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบของนักเคลื่อนไหว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และนักกฎหมาย
โดยควรยกเลิกข้อบทเหล่านี้ หรือแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับพันธกรณีและพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ทางการไทยต้องเคารพ คุ้มครอง ส่งเสริม และปฏิบัติให้เป็นผลอย่างเต็มที่ ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม (ข้อมูลจากโพสต์ทูเดย์ /26 ธ.ค. 2562)
เห็นได้ชัดว่า ท่าทีของแอมเนสตี้ฯ มีลักษณะการเคลื่อนไหวที่เป็นแนวร่วมกับพรรคการเมืองบางพรรค อย่างที่ “หมอวรงค์” โพสต์กล่าวอ้าง
ที่สำคัญ แอมเนสตี้ฯ ยังไม่สนใจว่าพรรคการเมืองบางพรรค แกนนำของพรรคการเมืองบางพรรค ที่ตนเองเป็นแนวร่วมนั้น ทำผิดอะไรเอาไว้กับกฎหมายพรรคการเมืองไทย กฎหมายเลือกตั้งไทย และกฎหมายอื่นอีกมาก อย่างท้าทาย จนเป็นสาเหตุให้ถูกดำเนินคดี เหมือนประเทศทั่วโลกที่เขาดำเนินคดีกัน เมื่อมีการทำผิด
เพียงเพราะต่อต้านเผด็จการ ก็ถือว่าการละเมิดกฎหมาย เป็นเรื่องถูกต้องแล้วหรือ เป็นเรื่องที่องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลจะต้องยื่นมือเข้ามาปกป้องด้วยหรือ
อย่าลืมว่า การอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ของคนไทย ยังคงมีอยู่ มิใช่ใครอยากทำอะไรก็ได้ เหมือนพวกอภิสิทธิชน ขณะที่คนอื่นยังเคารพกฎหมาย แค่นี้ถ้ายังคิดไม่ได้ จะทำเรื่องใหญ่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างไร?