“ส.ว.สถิตย์” ชื่นชมสำนักงานศาลยุติธรรม บริหารงบปี 62 รายได้มากกว่าค่าใช้จ่้ายเกือบ 2 พันล้าน เสนอเตรียมงบประมาณเพิ่มรองรับจำนวนคดีที่จะเพิ่มขึ้นหลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 พร้อมเปลี่ยนแปลงศาลยุติธรรมสู่ดิจิทัลให้มากขึ้น และแยกแผนกคดีเทคโนโลยี
วันนี้ (8 มิ.ย.) ในการประชุมวุฒิสภา พิจารณาวาระรายงานผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรม สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้อภิปรายชื่นชมสำนักงานศาลยุติธรรมที่งบการเงินมีรายได้ 26,083 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่าย 24,124 ล้านบาท ทำให้มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย 1,959 ล้านบาท ทั้งที่ในงวดปี 2562 สำนักงานศาลยุติธรรมเปิดที่ทำการศาลเพิ่ม 7 หน่วย และยกฐานะศาลจังหวัดเพิ่ม 3 หน่วย
ดร.สถิตย์ อภิปรายอีกว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ดร.สถิตย์ ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกต และมีข้อเสนอแนะดังนี้
1) เสนอให้สำนักงานศาลยุติธรรมเตรียมงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อรองรับปริมาณคดีที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากบทเรียนในอดีตพบว่า ที่ผ่านมา หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง และ วิกฤตโรคซาร์ส จำนวนคดีที่ขึ้นสู่ศาลแพ่งเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 19 และ ร้อยละ 22 ตามลำดับ จากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ น่าจะทำให้มีจำนวนคดีเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน รวมถึงการรองรับคดีที่มีการเลื่อนนัดพิจารณาอันเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้ออกประกาศเรื่องการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ให้ศาลชั้นต้นทุกศาล เลื่อนนัดพิจารณาคดีจัดการพิเศษทุกคดี จำนวนกว่า 163,620 คดีที่นัดไว้ในระหว่างวันที่ 24 มีนาคม 2563 - 31 พฤษภาคม 2563 โดยให้กำหนดวันนัดใหม่ในเวลาที่เหมาะสมนับเป็นการเลื่อนคดีที่มีจำนวนที่มาก ที่เลื่อนเป็นระยะเวลายาวนานสุดในประวัติศาสตร์
2) เสนอให้เปลี่ยนแปลงศาลยุติธรรมสู่ดิจิทัลให้มากขึ้น ปัจจุบันปัจจุบันศาลยุติธรรมมีการนำดิจิทัลเข้ามาดำเนินการอยู่พอสมควรแล้ว ทั้งนี้ จากเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า ศาลยุติธรรมได้ริเริ่มนำ “การเปลี่ยนแปลงศาลยุติธรรมสู่ดิจิทัล” เข้ามาพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสืบคดีออนไลน์ การชำระค่าปรับผ่านร้านสะดวกซื้อ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกรมบังคับดีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เห็นสมควรให้มีการดำเนินการเพิ่มเติมดังนี้
- นำบัตรประชาชนดิจิทัล หรือ ดิจิทัลไอดี (Digital I.D.) ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 เข้ามาใช้ในกระบวนการของศาลยุติธรรมในการยืนยันตัวบุคคลให้มากขึ้น โดยดิจิทัลไอดีอาจใช้ไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) ซึ่งก็คือ ลักษณะของมนุษย์ที่สร้างเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล เช่น ลักษณะบนใบหน้า ม่านตา ลายนิ้วมือ เป็นต้น
- พัฒนาใช้ดิจิทัลเพื่อการรายงานสรุปในการพิจารณาคดี โดยการแปลงสัญญาณเสียงพูดเป็นข้อความแบบทันที แล้วสรุปผลเป็นรายงาน จะทำให้ประหยัดเวลาในการพิจารณาคดี
- เพิ่มหน่วยงานในการเชื่อมต่อข้อมูลให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการแบบจุดเดียว อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของศาลยุติธรรม
พิจารณาเสริมความแข็งแกร่งของระบบความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เช่น การได้รับมาตรฐาน ISO27001 เป็นต้น
3) เสนอให้มีการศึกษาเพื่อแยกพิจารณาคดีเกี่ยวกับเทคโนโลยี เนื่องจากรูปแบบการทำธุรกรรมทางเทคโนโลยี ในทางกฎหมายมีความซับซ้อนและแตกต่างไปจากเดิม เช่น จากกระดาษมาเป็นกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) จากลายเซ็นด้วยปากกามาเป็นลายเซ็นต์ดิจิทัล (Digital Signature) จากการซื้อขายผ่านหน้าร้านมาเป็นร้านค้าออนไลน์ (Market Place) และจากการชำระด้วยเงินสดมาเป็นการชำระเงินเงินโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) ซึ่งจะทำให้ข้อพิพาททางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอาจจำเป็นต้องมีศาลเฉพาะทางรองรับ
ดังนั้น จึงขอเสนอให้มีการศึกษาเพื่อแยกคดีเทคโนโลยีเป็นแผนกคดีพิเศษ หรือแยกเป็นศาลเฉพาะทางในอนาคต ทั้งนี้ มีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรได้มีการจัดตั้งศาลเฉพาะทางเพื่อระงับข้อพิพาททางไซเบอร์ หรือ Fraud and Cyber Crime Court เพื่อรองรับประเด็นข้อพิพาทในรูปแบบใหม่ (Modern Crime) และสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีจัดตั้งได้มีการจัดตั้งศาลอินเทอร์เน็ต (Internet Court) เพื่อรับพิจารณาข้อพิพาทที่คู่ความทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คดีที่เกี่ยวกับการสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ และการกู้ยืมออนไลน์ เป็นต้น