xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยุติธรรมเปิดพิจารณาคดีเต็มรูปแบบ 1 มิ.ย.นี้ หลังเลี่ยงโควิด-19 นาน 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
ศาลยุติธรรมเปิดพิจารณาพิพากษาคดีเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ 1 มิ.ย.นี้ หลังเลื่อนคดีนานกว่า 3 เดือน เลี่ยงไวรัสโควิด-19 ระบาด แต่ให้กำหนดมาตรการที่เหมาะสม เช่น ให้มีเจลล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และ ลดความแออัดในห้องพิจารณา ส่วนสถิติฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เดือน พ.ค.ลดลง

วันนี้ (1 มิ.ย.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยข้อมูลสถิติคดีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ข้อมูลคดีสำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดีอย่างต่อเนื่อง ภายหลังรัฐบาลออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

โดยภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค. 2563 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง ทั้งหมด 14,727 คดี พิพากษาแล้วเสร็จ ทั้งหมด 14,176 คดี (คิดเป็นร้อยละ 96.26) จำเลยทั้งหมด 21,113 คน ข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 20,736 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดในการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,797 คน ส่วนในกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว มีจำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวม 813 คำร้อง จำนวนเยาวชนทั้งหมด 891 คน กระทำผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มากที่สุด จำนวน 884 คน

นายสราวุธ กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเห็นได้ว่าสถิติคดีในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ตลอดทั้งเดือนมีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด 17,466 คดี เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 14,727 คดี เมื่อนำมาเปรียบเทียบพบว่าสถิติคดีมีปริมาณลดลง 2,739 คดี ขณะที่ในส่วนของกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว สถิติการจับกุมในเดือน เม.ย. มีจำนวน 1,262 คดี เดือน พ.ค. มีจำนวน 813 คดี เมื่อเปรียบเทียบกันพบว่าสถิติลดลง จำนวน 449 คดี สาเหตุอาจเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และประชาชนเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ เริ่มมีการปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น และพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

สำหรับคดีที่มีการเลื่อนนัดพิจารณาคดีในช่วงเดือน มี.ค.- พ.ค. 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น นายสราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศมีความพร้อมที่จะเริ่มกลับมาพิจารณาคดีเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิ.ย. 2563 โดยคณะอนุกรรมการศึกษาติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของศาลยุติธรรม ซึ่งมี นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ได้กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดี และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งสถานที่และบุคลากรสำหรับการพิจารณาคดีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในเดือน มิ.ย. 2563 เช่น กำหนดให้คู่ความและผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องพิจารณาใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สวมหน้ากาอนามัยตลอดเวลา และให้อยู่ห่างจากบุคคลอื่นในระยะอย่างน้อย 1-1.5 เมตร หรือให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จัดให้อยู่ในบริเวณที่เหมาะสม จัดให้มีจุดบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) เพื่อให้คู่ความหรือทนายความสามารถยื่นคำคู่ความหรือเอกสารใดๆ โดยที่มีเจ้าหน้าที่รับและมีระบบการติดตามทราบคำสั่งหรือความคืบหน้าของคดี

ศาลที่มีทางเดินรถภายในที่สะดวก กว้างขวาง อาจจัดให้มีการบริการ Drive Thru เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาติดต่อโดยไม่ต้องลงจากรถ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ที่เข้าไปในอาคาร สะดวกแก่การดูแลสุขอนามัยภายในศาล สำหรับการติดต่องานบริเวณจุดรับบริการ หรือเคาน์เตอร์ระหว่างเจ้าหน้าที่ศาลกับผู้มาติดต่อราชการ กำหนดให้มีเส้นแบ่งหรืออุปกรณ์เพื่อการเว้นระยะห่างบุคคลอื่น (Social Distancing) และให้ศาลจัดเตรียมหน้ากากอนามัยสำรองไว้เพื่อให้บริการแก่คู่ความหรือผู้มาติดต่อราชการในกรณีที่ไม่ได้นำหน้ากากอนามัยติดตัวมาศาลด้วย

นอกจากนี้ ในการออกหมายและส่งหมายแจ้งวันนัดสำหรับคดีทุกประเภทให้ใช้ความระมัดระวัง และบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางและสถานที่ตามที่ได้ดำเนินการให้ละเอียดชัดเจน สำหรับคดีจัดการพิเศษที่รับฟ้องใหม่ ควรกำหนดนัดพิจารณาแบบเหลื่อมเวลา รวมถึงในกรณีออกหมายเรียกพยานบุคคลมาเบิกความที่ศาล ให้ระบุเวลาไว้ในหมายเรียกให้สอดคล้องกับเวลานัดหรือเวลาที่พยานจะต้องเข้าเบิกความ เพื่อลดระยะเวลาที่คู่ความ ทนายความ และผู้เกี่ยวข้องต้องรอการพิจารณาและลดความแออัดในห้องพิจารณา เป็นต้น

“ส่วนที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีมาตรการผ่อนปรนให้กิจกรรมหรือ กิจการบางประเภทเปิดทำการเพิ่มเติมได้ (ผ่อนปรนเฟส 3) และให้การเดินทางข้ามจังหวัดภายใต้มาตรการที่ราชการกำหนด รวมถึงลดเวลาการออกนอกเคหสถานลง 1 ชั่วโมง เป็นเวลา 23:00-03:00 น.ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันนี้เป็นวันแรก ขอให้พประชาชนและผู้ประกอบการยึดหลักสาธารณสุขเป็นหลัก และให้ศึกษาข้อกำหนดของมาตรการการผ่อนปรนเพื่อป้องกันการระบาดระลอกที่สอง หรือ second wave ที่อาจจะเกิดขึ้นเหมือนหลายๆ ประเทศ” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น