xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ส้ม” หนุน พ.ร.ก.ประชุมออนไลน์ ชูข้อดีคล่อง-ป้องกันโรคระบาด เหมาะยุคดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์
“พัชรินทร์” ส.ส.กทม เขต 2 พปชร. หนุน พ.ร.ก.ประชุมออนไลน์รับยุคดิจิทัล-เว้ยระยะห่าง เพื่อความคล่องตัวป้องกันโรคระบาดโควิด-19 แต่ห่วงความปลอดภัยของข้อมูล พร้อมฝากประธานแก้ข้อบังคับสภาฯให้สอดรับ กม.

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ประชุมออนไลน์ ว่า ขอสนับสนุนการตรากฎหมายฉบับนี้ เพื่อที่จะได้ลดอุปสรรคในการทำงานในยุคดิจิทัลและสอดรับกับการทำงานในยุคที่เกิดแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่กระจายอย่างรุนแรง เป็นวงกว้างไปทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งมาตรการสำคัญหนึ่งในการที่จะป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้คือการเว้นระยะห่างทางสังคม

“การใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม ยังส่งผลกระทบต่อวิถีของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่สามารถที่จะดำเนินกิจวัตรได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม การปรึกษาหารือต่างๆที่ต้องมีการรวมตัวกันยังไม่สามารถทำได้” น.ส.พัชรินทร์ กล่าว

ส.ส.กทม. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ดำเนินการด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการพบปะกันนั้น แม้มีกฎหมายรองรับเมื่อปี 2557 ว่าด้วยการประชุมด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 74/2557 แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ยังไม่สอดรับกับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น การกำหนดให้ ผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน หรือการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดตั้งอยู่ในราชอาณาจักรหรืออยู่ในประเทศไทย จึงเป็นเหตุจำเป็นให้การดำเนินงานดังกล่าวของทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนอาจได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และอาจนำไปสู่ ผลกระทบถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

“พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ฉบับนี้ มีจุดเด่นหลักๆ ในหลายประการ ซึ่งโดยผู้ร่วมประชุมไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันหรือในประเทศ รวมไปถึงการปลดล็อกข้อกำหนดในการห้ามใช้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการประชุมลับ และยังเพิ่มหลักการให้ผู้ร่วมประชุมสามารถที่จะลงคะแนนได้ ทั้งการลงคะแนนแบบเปิดเผย รวมไปถึงการลงคะแนนลับ และยังกำหนดให้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ เป็นการประชุมชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายได้ โดยห้ามมิให้มีการปฏิเสธ” ส.ส.กทม.กล่าว

น.ส.พัชรินทร์ ยังเสนอแนะด้วยว่า เนื่องจากกฎหมายการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์พุทธศักราช 2563 เป็นเรื่องที่ใหม่ จึงอยากฝากให้มีความชัดเจนถึงแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงความปลอดภัยของข้อมูลที่ต้องไม่ให้ผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ได้ พร้อมกันหรือยังอยากเสนอให้รัฐบาลมีระบบคัดกรองผู้ให้บริการระบบการประชุม เพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะพิจารณาเลือกใช้ผู้ให้บริการระบบการประชุมที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้

“ในส่วนของการประชุมสภา พระราชกำหนดนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยให้ประธานสภสฯช่วยพิจารณาว่าสมควรที่จะแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาหรือไม่อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตหากมีความจำเป็น” น.ส.พัชรินทร์ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น