“ประยุทธ์” ตอบรับบันทึกเทป ส่งตรงเผยแพร่นครนิวยอร์ก กล่าวถ้อยแถลงเวทีการเงินเพื่อการพัฒนาในยุคโควิด-19 ย้ำโลกต้องปรับตัวต่อ New normal แนะ 3 ประเด็นหลักฟื้นฟูวิกฤต
วันนี้ (28 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมกล่าวถ้อยแถลง กิจกรรม High-Level Event on Financing for Development in the Era of COVID-19 and Beyond ตามคำเชิญของ นายกรัฐมนตรีแคนาดา นายกรัฐมนตรีจาเมกา และ เลขาธิการสหประชาชาติ ที่จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต มีกำหนดเผยแพร่ในช่วงค่ำวันนี้ 28 พ.ค. 63 คาดว่า นายกรัฐมนตรี จะใช้โอกาสนี้ แสดงให้ต่างชาติเห็นถึงศักยภาพที่เข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย ในการดูแล และ ป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. รวมไปถึงการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ตามแนวทางปกติใหม่ หรือ new normal
สำหรับเนื้อหาของคำกล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรม High-Level Event on Financing for Development in the Era of COVID-19 and Beyond (การเงินเพื่อการพัฒนาในยุคโควิด-19) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม บันทึกเทปไว้ เพื่อเผยแพร่ที่ นครนิยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญนายกฯแคนาดา นายกฯจาเมกา และ เลขาธิการสหประชาชาติ ที่จัดประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเทปถ้อยแถลงดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 3 นาที ซึ่งเผยแพร่ในเวลา 10.17น. (ตามเวลาท้องถิ่นที่นครนิวยอร์ก ซึ่งตรงกับเวลา 21.17 น.ของประเทศไทย) วันที่ 29 พ.ค.
นายกรัฐมนตรี ใช้โอกาสนี้กล่าวถึงความร่วมมือ ว่า โลกจะต้องปรับตัวต่อ new normal และถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน ทั้งเรื่องความมั่นคงทางสุขภาพ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งนายกฯเสนอ 3 ประเด็นที่สำคัญต่อการฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้ ประกอบคือ 1. การจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสม ให้มีสาธารณสุขที่เข้มแข็งและมีหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า
2. เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต้องยึดมั่นในระบบการค้า พหุภาคี ที่เปิดกว้างเพื่ออำนวยให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเดินหน้าต่อไป และจะต้องมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไป โดยจะต้องมีการฟื้นฟูปรับเปลี่ยนธุรกิจ เพื่อฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ และให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน ในการสร้างชุมชนและเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และหวังว่า ทางองค์การระหว่างประเทศ จะมีเป็นปัจจัยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและการเงิน และ 3. วิกฤตนี้จะเป็นโอกาสวางแผนฟื้นตัวเศรษกิจได้อย่างยั่งยืน เป็นการรองรับแนวทางปกติใหม่ หรือ new normal เป็นการดูแลการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าการลดภาวะโลกร้อน กำจัดขยะในทะเล โดยมาตรการนี้จะได้ผลต้องได้รับความไว้วางใจและความร่วมมือจากประชาชน
“ในส่วนประเทศไทยเอง ขอบคุณพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างดียิ่ง รัฐบาลได้สื่อสารทำความเข้าใจทุกวัน เพื่อวางมาตรการเตรียมรับมือกับวิกฤตนี้ สุดท้ายนายกฯขอบคุณ นายกฯ แคนาดา นายกฯ จาเมกา และ เลขาธิการสหประชาชาติ ที่จัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อที่เราจะได้มาหาทางร่วมกันในการรับมือและส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”