xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์เปิดกรอบเงินกู้ 4 แสนล้าน เข้าระบบเศรษฐกิจ ก.ค. แย้ม “ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-ไทยเที่ยวไทย-ช้อปช่วยชาติ” น่าสนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สภาพัฒน์” เปิดกรอบฟื้นฟู 4 แสนล้านเข้าระบบเศรษฐกิจประเทศ ไตรมาส 3 ราวเดือน ก.ค. ตั้งโต๊ะแจงภาคราชการ แย้มโครงการ “ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-ไทยเที่ยวไทย-ช้อปช่วยชาติ” น่าสนใจสุด แต่ต้องลงรายละเอียดเพิ่ม แนะภาครัฐ-จังหวัดจับคู่ภาคประชาชนเสนอโครงการใน 2 สัปดาห์ ขีดเส้น 5 มิ.ย.นี้ได้โครงการเข้าระบบกลั่นกรองฯ ย้ำเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไทยดับหมดแล้ว เหลือเพียงกระบวนการภาษี-การใช้จ่ายของภาครัฐช่วยขับเคลื่อนเท่านั้น

วันนี้ (25 พ.ค.) มีรายงานว่า ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ นำแถลงข่าว ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามมาตรา 7 ของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยรายละเอียดกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยคาดหมายไทม์ไลน์ (ระยะเวลา) ที่เกี่ยวข้องหลังจาก พ.ร.ก.ออกมา

“กฎหมายได้กำหนดให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ได้ทำกรอบนโยบาย เสนอ ครม.ไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2563 และวันที่ 19 พ.ค. 2563 ได้ทำรายละเอียด และวันนี้ (25 พ.ค.) ได้เชิญหน่วยราชการมาอธิบายรายละเอียดให้เข้าใจและเตรียมคิดโครงการออกมา และส่งกลับมาภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2563”

เลขาธิการสภาพัฒน์ให้ข้อมูลว่า สำหรับเรื่องที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงเงิน 400,000 ล้านบาท ว่าจะนำไปทำอะไรบ้างนั้น ตัวเงิน 1 ล้านล้านบาท จะแยกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก วงเงิน 600,000 ล้านบาท ใช้เพื่อเยียวยา 5.5 แสนล้านบาท และ 4.5 หมื่นล้านบาท ใช้ในระบบสาธารณสุข และที่เหลือจะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยประมาณ 4 แสนล้านบาท

ล่าสุด สภาพัฒน์ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้เสนอ “กรอบแนวคิดสำหรับใช้จ่ายเงิน” ใน 4 กรอบ ประกอบด้วย 1. กรอบการลงทุน หรือกิจกรรมการพัฒนา ที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยจุดขายของเศรษฐกิจไทย 2 ด้าน คือ ระบบสาธารณสุข เพื่อจูงใจให้คนไทยมาเที่ยวเมืองไทยในเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ในลักษณะ “ไทยเที่ยวไทย” รวมถึงเรื่องการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้ เงินจะต้องลงไปสร้างโอกาสให้กับภาคเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีโอกาส เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเกษตร หรือภาคเกษตร อาจจะมีการเพิ่มผลิตผลและลดต้นทุน และกลุ่มที่เพิ่มมูลค่า ใช้นวัตกรรมให้สินค้าเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น เช่น การสกัดสารสำคัญออกจากสมุนไพร เป็นต้น

2. การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน หรือฐานรากจากเดิม ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกและไม่มีความยั่งยืน เช่น ต่อไปประเทศไทย อาจต้องเน้นที่ “ภาคส่งออกที่ยั่งยืน” และ “เศรษฐกิจระดับฐานราก” ให้แข็งแรงมากขึ้น ผ่านกระบวนการส่งเสริมตลาดและการเข้าถึงช่องทางการตลาด สำหรับผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน

ดร.ทศพรยังยกตัวอย่างว่า บทเรียนครั้งนี้จะเห็นว่าภาคท่องเที่ยวมีผลกระทบอย่างมากจากที่เงินรายได้เข้ามา 2 ล้านล้านบาท แต่พอไม่มีส่วนนี้เข้ามากิจการก็ต้องปิด คนก็ตกงานกลับภูมิลำเนาไป เราต้องไปสร้างงานอาชีพให้คนในส่วนนี้ อันที่สองคือจะไปดูแลการสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนที่อาจจะต้องเน้นสิ่งที่มีศักยภาพและคุ้นเคยคือการเกษตร ต้องไปเน้นผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยและมีมูลค่าเพิ่มก็ต้องไปทำเรื่องแหล่งน้ำด้วย อีกส่วนคือการท่องเที่ยวชุมชน ต้องพัฒนาสินค้าหรือบริการชุมชน เช่น ผ้าพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน การบริการต่างๆ ฯลฯ ต้องพัฒนาการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ มีระบบขนส่งที่ดีหรือระบบโลจิสติกส์ที่ดี

3. “กระตุ้นการบริโภค” ที่ทำได้ก่อนคือ “ไทยเที่ยวไทย” แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยไปเที่ยว แต่หลังจากสิ่งแวดล้อมเริ่มฟื้นตัวกลับมา คาดว่าจะเป็นจุดดึงดูดให้คนไทยมาเที่ยว เช่น อาจะส่วนลดของโรงแรมที่รัฐบาลช่วยอุดหนุนให้ โดยอาจจะเชื่อมโยงกับระบบภาษีเป็นการคืนผ่านภาษีแทน ยังมีข้อเสนอ เช่น “ช้อปช่วยชาติ” ที่จะต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง แต่การท่องเที่ยวเป็นตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วกว่ามาตรการอื่นๆ โดยคาดว่าไทยเที่ยวไทยอาจจะได้เร็วที่สุดในไตรมาสที่สามของปี

4. โครงสร้างพื้นฐาน ที่ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ตามปกติ แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เพื่อตอบโจทย์ของชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากในข้อที่ 2

“อาจจะเป็นการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบชลประทาน ที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ การเดินทางและขนส่งสินค้าจากชุมชน/ท้องถิ่น สู่ประตูการค้าหลักภายในประเทศ หรือการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโยงชุมชนกับผู้บริโภคโดยตรง”

เลขาธิการสภาพัฒน์ยอมรับว่า เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ดับหมดแล้ว ดังนั้น ที่เครื่องยนต์ภาครัฐเรื่องของภาษีกับการใช้จ่ายของภาครัฐจึงต้องขับเคลื่อนแทน ดังนั้นจะใช้อย่างไรให้มีกลไกอุดหนุนตรงไหนอย่างไร จะต้องลงรายละเอียดเพื่อไม่ให้มีการรั่วไหล

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า พระราชกำหนดอาจะเป็นในลักษณะการตีเช็คเปล่าให้หน่วยราชการสามารถใช้จ่ายเงินได้อิสระ เห็นว่า พ.ร.ก.มีกรอบการใช้จ่ายในระดับหนึ่งแล้ว และให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทำรายละเอียดเพิ่มเติมเข้า ครม. ดังนั้น ระบบต่างๆ มีความชัดเจนและโปร่งใสพอสมควร โดยพยายามจะให้ทุกโครงการ จบภายในปีงบประมาณ 2564 เพื่อให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องก่อนที่งบประมาณปี 2564

ส่วนการตั้งกรรมาธิการถือว่าเป็นความรอบคอบของด้านสภาผู้แทนราษฎรที่ช่วยเข้ามาตรวจสอบซึ่งเป็นเรื่องที่ดี สภาพัฒน์มองว่าเป็นประโยชน์ที่มีคนช่วยตรวจสอบและให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม


กำลังโหลดความคิดเห็น